หลังจากได้ดู DVD หนังสารคดี BBC เรื่องของฮันนิบาล บากา แห่งอาณาจักรคาร์เธจ (B2S ร้อยกว่าบาทเอง!)   ผู้ซึ่งเกือบจะสามารถพิชิตสาธารณรัฐโรมัน (The Roman Republic) ได้ในช่วงราวสองร้อยปีก่อนคริสตกาล แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้นั้นทำให้ได้บทเรียนสำคัญหนึ่งอย่างคือ “ชัยชนะจะต้องเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดถึงที่สุด”

เรื่องมีอยู่ว่าฮันนิบาลสาบาญว่าจะเป็นศัตรูของโรม และแค้นที่โรมมาย่ำยีอาณาจักรคาร์เธจของตน (ซึ่งอยู่ที่ Tunisia ปัจจุบัน) จนต้องถอยร่นไปตั้งใหม่แถวสเปน และต้องใช้เวลากว่า 50 ปีถึงจะพื้นอำนาจความแข็งแรงขึ้นมาได้   ฮันนิบาลได้นำทัพราว 50,000 คนบุกโรมในลักษณะที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะทำได้ ก็คือการเดินทางบกข้ามหุบเขา Alps ซึ่งสูงและเต็มไปด้วยหิมะ ยากต่อการผ่านทางได้

แต่สุดท้ายก็ทำได้และสามารถนำเอาชนเผ่าต่างๆที่อยากจะต่อต้านโรมอยู่แล้วมารวมกัน สามารถชนะการต่อสู้ถึงสามครั้งในพื้นที่ของโรมันเอง ด้วยแนวการทำศึกแบบทำสิ่งที่ศัตรูคาดเดาไม่ได้หรือไม่คิดว่าเราจะทำ ทหารโรมันเสียชีวิตจากการพ่ายแพ้นับแสนคน ในที่สุดก็มีโอกาสที่จะเข้ายึดเมืองหลวงของโรมได้ โรมอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดและพร้อมจะล่มสลายได้ในทันที

แต่ฮันนิบาลก็เกิดธรรมะธรรมโมขึ้นมาว่าตามหลักการสงครามในสมัยนั้นโรมจะต้องยอมแพ้เองแล้ว  และคิดว่าคาร์เธจไม่ใช่คนป่าที่จะเข้ายึดทำลายเมืองหลวงของคนอื่นจนราบคาบ  ฮันนิบาลก็เลยรออยู่นอกเมืองเพื่อให้โรมยอมแพ้ แต่โรมไม่ยอมแพ้ และแม้โรมจะอ่อนแอมาก แต่ก็ค่อยๆสร้างขุมกำลัง ในขณะที่ทหารของฮันนิบาลอ่อนแอลงเรื่อยๆ ในที่สุดฮันนิบาลก็ส่งคนไปขอกำลังทหารเพิ่มจากคาร์เธจแต่ก็แพ้อำนาจการเมืองจากศัตรูทางการเมืองของตนในคาร์เธจเองจึงไม่ได้กำลังเสริม

ในขณะที่โรมเองก็เรียนรู้วิธีรบแบบฮันนิบาลและส่งคนไปตีคาร์เธจ  และการเมืองในคาร์เธจเองก็โง่บ้าพอที่จะไม่ยอมเรียกฮันนิบาลกลับไปช่วยรบ  ฮันนิบาลก็จึงทำอะไรไม่ได้นอกจากตรึงกำลังไว้ใกล้ๆโรม  จนในที่สุดสถานการณ์วิกฤตจนคาร์เธจต้องเรียกฮันนิบาลกลับ แต่ก็ช้าเกินไป แม้ฮันนิบาลเองก็รบแพ้ด้วยความไม่พร้อมหลายๆเรื่องและการที่แม่ทัพแห่งโรมได้ใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกับที่ฮันนิบาลใช้มาตีคาร์เธจเอง  เขาต้องหนีไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็ต้องฆ่าตัวตายก่อนที่ทหารโรมันจะจับเขาได้ในอีกสิบห้าปีต่อมา

การตัดสินใจผิดพลาดที่ไม่เข้ายึดโรมด้วยเหตุผลทางจริยธรรมและระเบียบประเพณีการรบระหว่างประเทศในขณะที่มีโอกาสนั้น ทำให้สุดท้ายเขาก็กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ แต่ศัตรูเริ่มพื้นคืนพลัง และเรียนรู้ทุกๆอย่างจากฮันนิบาลเพื่อมาทำลายเขาเอง

แน่นอนสิ่งที่อาจจะดีก็คือ ประสบการณ์ของโรมเกี่ยวกับฮันนิบาลนั้นเลวร้ายจนทำให้โรมเองลุกขึ้นมาพัฒนาและจัดระเบียบการทหารใหม่จนสามารถกลายเป็นจักรวรรดิที่เรืองอำนาจครอบครองและสร้างความเจริญในโลกยุคโบราณได้อย่างที่เราทราบกันในยุคต่อๆมา

ที่เล่ามาก็มาจากที่ BBC มาทำเป็นหนังนะครับ รายละเอียดต่างๆก็ยังเป็นที่ถกเถียงในประวัติศาสตร์ครับ  ประวัติศาสตร์ที่ตรงกว่าจริงอยู่ที่นี่ครับ

บทเรียนสำคัญคือการรบจะต้องจัดการให้ถึงที่สุด อย่าปล่อยเชื้ออะไรไว้ ไม่เช่นนั้นมันอาจจะกลับมาทำร้ายเราได้

บทเรียนทางการเมืองไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงการปฏิวัติ 2549 นั้น หากเราไม่ได้มองว่าที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด จะเห็นได้ว่าผู้นำในแต่ละยุคก็มักจะซำ้ความผิดผลาดเดิมๆที่ฮันนิบาลทำไว้เมื่อราวสองพันกว่าปีมาแล้ว การไม่ทำอะไรที่เด็ดขาดและจัดการเรื่องต่างๆจนถึงที่สุด  ความเป็นผู้ดีแบบไม่จำเป็นย่อมส่งผลให้พวกเขาพ่ายแพ้ต่ออำนาจเดิมในยุคนั้นที่โตกลับมาใหม่และมีความสามารถมากกว่าเดิม  และสุดท้ายผู้นำเหล่านั้นก็มักจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่จนเสียชีวิตในที่สุด

The war must be completed.

สุนิตย์ 4-1-08

5 thoughts on “ บทเรียนจากฮันนิบาลแห่งคาร์เธจ และการเมืองไทย ”

  1. Any war will never end absolutely. The real war is the war against human kilesa. Unless, human beings are able to control their own kilesa. The war will never end. The only good lesson to be learned for all the war and conflict is how to survive with peacefull mind amidst the conflict amidst the fighting and is also be able to contribute to defeat the vicked enemy at the same time. If we cannot do anything at all stay away from the fight and try to survive under the most difficult circumstance

  2. น่าสนใจนะครับ
    แต่น่าจะช่วยวิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์การรบแบบ Fabian ของนายพลโรมันท่านหนึ่ง

    ที่สำคัญ ผมไม่แน่ใจว่า ส่วนหนึ่งที่ ฮันนิบาล รบแพ้
    เพราะการเมืองภายในคาร์เธจ มีปัญหาหรือเปล่า

    ถ้าเป็นเช่นนั้น หมายความว่า
    กำลังรบอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่คือการบริหารจัดการองค์กรภายใน

    ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

  3. ปัญหาที่สะสมของการเมืองไทยที่ผ่านมาถูกแก้ปัญหาโดยการเล่นนอกกติกามาโดยตลอด
    และมักจะเป็นการตัดสินแก้ปัญหาโดยคนหยิบมือเดียวของประเทศ ด้วยการอ้างนามแห่งความรักชาติหรือสถาบันใดๆก็ตาม แต่ทว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งก็อาจจะให้ความใส่ใจน้อยด้วยทางหนึ่ง อีกทั้งคนผู้กุมอำนาจการตัดสินใจก็ละเลยที่จะให้ความสำคัญแก่คนส่วนใหญ่ทางหนึ่ง
    ด้วยเพราะเข้าใจเอาเองว่าตนคือผู้ที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลได้ดีที่สุด(rationalist)

    ดังนั้นไม่ว่าจะจบสงครามอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันว่าผลท้ายที่สุดจะเป็นผลดีกับทุกคนภายใต้สังคมการเมืองแบบน
    ไม่ต้องอ้างเรื่องการศึกษา เพราะแม้กระทั่งคนมีการศึกษาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายระบอบประชาธิปไตยมานักต่อนัก ฉะนั้นคำถามคือ อะไรเป็นปัญหาที่แท้จริงกันแน่?

    มีนักวิชาการสายหนึ่งพยายามจะเสนอแนวความคิดเรื่อง ประชาธิปไตยแบบการมองคู่ตรงข้ามเป็นแบบ “คู่แข่ง (agonism)”
    ซึ่งให้ทางเลือกแก่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งแต่เดิมมันดำเนินมาแบบพยายามสร้างความเป็น “คู่ปรปักษ์ / ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง (atagonism)หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกัน
    ฉะนั้นสิ่งที่นักทฤษฎีอย่าง Chantal Mouffe เสนอ คือสภาพของสังคมการเมืองที่สามารถแข่งขันกันได้ภายใต้กติกาของการเมืองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา แพ้ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วก็สู้กันใหม่ภายใต้กติกาเดียวกัน เห็นอะไรผิดปกติก็จัดการกันตามกฏที่ตั้งเอาไว้

    อย่างไรก็ตามสังคมการเมืองไทยจะไปถึงจุดนี้ได้ก็จะต้องข้ามพ้นให้ได้กับการสร้างกฎกติกาทางการเมืองที่ยอมรับร่วมกันและเคารพในสิ่งนั้น
    และแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เจ็บตัวบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็เผชิญด้วยตนเอง นั่นคือการเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ทำผิดใหม่อีกครั้ง
    ก็ไม่รู้ว่านี่จะเป็นทางเลือกของการพัฒนาสังคมการเมืองไทยได้หรือไม่ ถ้าหากยังคิดว่าต้องการระบอบประชาธิปไตย

  4. เป็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
    แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า นักการเมืองผู้มีอำนาจ (หรือนักการทหาร) บ้านเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์แค่ไหน และอย่างที่บอก.. ความเป็นผู้ดี (ที่ไม่จำเป็น) ทำให้ไม่อยากเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวบ้านๆ
    ไหนๆก็โยงมาเกี่ยวกับการเมือง และประชาธิปไตยบ้านเราแล้ว
    สุนิตย์ มี model อะไรไหม ที่จะอธิบายจุดสิ้นสุด หรืออย่างน้อยอนาคตความเป็นไป ต่อไปๆของบ้านเมือง การเมือง และประชาธิปไตยแบบไทยๆ 😛

  5. ผมว่ามันมี “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการในคราบประชาธิปไตย” แต่มันไม่เคยมี “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” เหมือนกับที่มันไม่มีทางมี “ความดีที่แอบเลว” หรือ “ความถูกต้องแบบไทยๆ”

    ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจอยู่ที่ประชาชน ไม่มีพลังอะไรอยู่นอกเหนือ กระบวนการประชาธิปไตยอาจจะต้องผิดต้องถูกต้องเจ็บปวด ต้องใช้เวลา แต่มันจะเกิดผลอย่่างยั่งยืน ส่วนการใช้อำนาจทหารหรืออำนาจอื่นๆมาขวางพัฒนาการประชาธิปไตยนั้น เป็นการถอยพลังเข้าคลองตัน เหมือนกับการที่พ่อแม่ไม่ยอมให้เด็กค่อยๆเรียนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ชอบบงการไม่ชอบใจอะไรก็ห้ามก็เข้ามายุ่ง เด็กย่อมไม่มีวันโต ไม่มีวันเจริญ ส่วนพ่อแม่เดี๋ยวก็ต้องมีอันตายจากไป ถ้าเด็กโง่ เด็กก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเจริญ

Leave a reply to admin Cancel reply