เพื่อช่วงอาทิตย์ที่แล้ว (3-5 มี.ค. 08) ผมได้รับเชิญจาก UN Economic Commission for Africa (UNECA) ให้ไปช่วยเป็น Speaker ในชุดงาน Sciences for Africa ที่เมือง Addis Ababa ประเทศ Ethiopia และให้ไปช่วยพัฒนาแผนการสร้างเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมในหมู่คนรุ่นใหม่ (Young social entrepreneurs) ของ UNECA ที่ต้องการขยายบทเรียนที่เพื่อนๆและผมช่วยกันทำเรื่องกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคม (Youth Social Enterprise Initiative -YSEI) ซึ่งกำลังเนินการอยู่ในเอเชียเป็นปีที่สอง   ซึ่ง UNECA เห็นว่าน่าจะใช้แนวทางเดียวกันใน Africa ได้ โดยเฉพาะในการประกอบการที่เกี่ยวกับประเด็น ICT, Climate change และ วิทยาศาสตร์  โดยให้พวกผมไปช่วยเป็นที่ปรึกษาให้

ความสนใจที่มีมากมาย และโอกาสของเยาวชนในอาฟริกาซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่มีจำนวนมากที่สุด

ผมนำเสนอให้ตัวแทนของ UN นักวิทยาศาสตร์ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ กว่าร้อยคนที่สนใจหัวข้อ Startup and Change the World with Youth Social Enterprise ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ดูสนใจและได้แรงบรรดาลใจมากเมื่อผมพูดถึงตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่สร้างโอกาสในด้านต่างๆ เช่นในเรื่องการทำระบบเกษตรปราณีตที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนในอีสานของไทยได้กว่าสี่ร้อยครอบครัว  หรือการทำร้านขายส่งโดยเอาของหัตกรรมของชาวบ้านมาขายและรายได้กลับไปที่ชาวบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำซึ่งทำรายได้กว่าแสนเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้วในอินเดีย

สิ่งที่พวกเขาประทับใจที่สุดก็คือความคิดที่ว่าต่อไปนี้คนรุ่นใหม่สามารถจะเป็นทางออกของปัญหาได้ ไม่ใช่จะเป็นแค่เพียงเหยื่อของความยากจนเท่านั้น หรือความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่สามารถคิดที่จะสร้างงานได้ ไม่ใช่คิดแต่จะหางานอย่างเดียว ซึ่งในอาฟริกานั้นอัตราการว่างงานนั้นสูงเหลือเกิน

ปัญหาเดิมๆที่เจอกันทุกที่

ความท้าทายของอาฟริกานั้นก็มีเรื่องเดิมๆที่เราเจอกันในเอเชียเช่นกัน  โดยเฉพาะปัญหาของบริบททางสังคม เช่นการที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้เยาวชนลุกขึ้นมาทำการประกอบการทางธุรกิจหรือทางสังคมเอง  แต่อยากให้ลูกๆไปทำงานในภาคราชการหรือองค์กรใหญ่ๆมากกว่า  ซึ่งคนที่มาประชุมกับผมก็ยังบอกว่าเขาไม่เคยสนับสนุนลูกให้ทำธุรกิจเลยจนมารู้อีกทีก็คือลูกแอบไปทำธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ

อีกปัญหาเดิมๆก็คือความไม่แข็งแรงของธุรกิจ SMEs ในอาฟริกา ซึ่งการทำธุรกิจแบบเล็กๆแต่ไม่ได้เล็กไปเลยนี้ดูจะไม่ใชสิ่งที่คนที่นั่นมีความรู้เท่าใดนัก และยังไม่ค่อยมีเสียด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) แล้วยิ่งแทบไม่มีเลย  แต่ผมรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นโอกาสเสียด้วยซ้ำ เพราะหากส่งเสริมให้เกิดธุรกิจพันธ์ใหม่นี้แล้ว สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นธุรกิจหลักที่ทำให้อาฟริกากลายเป็นทวีปที่มีธุรกิจที่ยั่งยืนในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคตก็ได้   โดยเฉพาะการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในบริบทอาฟริกันนั้นก็มักต้องเริ่มในชุมชนก่อน ดังนั้นการสร้างธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นย่อมเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับฐานลูกค้าของตนให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้คนรุ่นใหม่ในอาฟริกาเห็นโอกาสในการประกอบการเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบที่ตนเองสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องใช้ทุนรอนมากนัก และมีระบบสนับสนุนการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกับประเทศในทวีปอื่นๆ

เพื่อนอาฟริกันของผมที่อยากเป็นผู้ประกอบการทางสังคม

ผมไปเจอเพื่อนคนหนึ่งชื่อ Joseph ที่พาผมเดินทางไปดูที่นั่นที่นี่ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยซึ่งสวยและกว้างใหญ่เพราะเคยเป็นวังมาก่อน   พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของ Ethiopia ซึ่งเล็กกว่าของไทยเสียหลายเท่าด้วยซ้ำทั้งๆที่มีประวัติมายาวนานกว่าสองพันปี  แต่เพื่อนผมคนนี้เขาอยากเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ดูๆเขาจะมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ  เขาเปิดร้านอาหารและมีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่โดยมีคอมพ์หนึ่งเครื่อง และจ้างเด็กผู้หญิงยากจนมาทำงานหนึ่งคนแต่ก็ให้ค่าตอบแทนที่ดี แทนที่จะจ้างคนทั่วๆไป  เขาอยากขยายแนวการทำธุรกิจแบบนี้  เป็นเน็ตคาเฟ่ที่จ้างผู้ด้อยโอกาสมาทำงานและอบรมให้เขากลายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการใช้คอมพิวเตอร์ และอาจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมบ้างร่วมกับอาสาสมัครต่างชาติที่เขาสนิทๆอยู่หลายๆคน  ซึ่งผมมองว่าเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่ง่ายชัดเจนและน่าสนับสนุนทีเดียว

สถาบันที่เชื่อมโยงกันระหว่าง Ethiopia  ไทย และญี่ปุ่น

ระหว่างที่คุยๆกับเพื่อนอาฟริกาของผมและอาสาสมัครญี่ปุ่น อยู่นั้น ผมก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมประเทศที่เจริญมายาวนานกว่าสองพันปีอย่าง Ethiopia ซึ่งไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร คล้ายๆกับญี่ปุ่นและประเทศไทยนั้นจึงตกต่ำลงได้ในช่วงศตวรรษนี้จนแทบจะกลายเป็นเครื่องหมายของความยากจนไปเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่ได้จากบทสนทนานั้นทำให้ผมกลับมาเหลียวหลังดูประเทศไทยเลยทีเดียว  เขาบอกว่า Ethiopia เคยมีสถาบันกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์สามารถทำให้ประเทศรอดพ้นยุคอาณานิคมมาได้ตลอด แต่ในช่วงเลี้ยวต่อของการพัฒนาแบบทุนนิยมที่ประเทศเขาก็ต้องเข้าสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาคในรอบร้อยปีที่ผ่านมานั้นมีปัญหารุนแรงอยู่ที่ระบบเจ้านายและตระกูลที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ แม้กษัตริย์จะพยายามแก้ปัญหาเท่าใด ก็ไม่สามารถทำลายพวกที่หากินอยู่รอบๆราชวงศ์ซึ่งมีทั้งเงินและอำนาจให้หมดไปได้  พวกนี้จึงหาประโยชน์ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร เพราะจะอ้างสถาบันฯอยู่ตลอดเวลา และรวมตัวกันผูกขาดผลประโยชน์ของเศรษฐกิจหลักๆของประเทศ จนถ่วงความเจริญอย่างรุนแรง

จนในที่สุดก็เกินการโค่นล้มระบอบลง พร้อมๆกับการเข้ามามีบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันของ Ethiopia เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งได้ทำโครงการมากมายที่ให้ประโยชน์กับสังคมและกำลังทำให้ประเทศเขาพัฒนาขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก  แต่บรรยากาศที่ผมเดินอยู่กลางถนนในเมืองก็ยังคงค่อนข้างน่ากลัวอยู่ มีคนว่างงานเดินมากมาย มีขอทาน และคนที่เข้ามาพยายามจะคุยด้วยแล้วขอเงินทางใดทางหนึ่ง  ทำให้ผมรู้สึกว่าประเทศใดๆก็ตามไม่ว่าจะเจริญแค่ไหน ถ้าพลาดด้วยการผูดขาดอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งมาถ่วงให้ประเทศไปต่อไม่ได้แล้วนั้น สุดท้ายก็อาจจะมีชะตากรรมไม่ผิดไปจาก Ethiopia ก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย

สุดท้ายเพื่อนอาสาสมัครญี่ปุ่นก็บอกว่า สถาบันกษัตริย์ที่จะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองได้ดังเช่นญี่ปุ่นนั้นจะต้องอยู่เหนือหรืออยู่นอกผลประโยชน์ทุกๆอย่างรวมทั้งการเมือง   และที่สำคัญคือจะต้องตรวจสอบได้โดยระบบกฏหมาย   จะต้องโปร่งใส หากแม้มีสมาชิกในราชวงศ์ทำผิดก็ต้องสามารถดำเนินคดีทางกฏหมายได้    เพื่อไม่ให้ใครมาหาประโยชน์จากการแอบอ้างสถาบันฯหรือใช้ความน่าเชื่อถือในตำแหน่งคนใกล้ชิดเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ต้องกลัวใครตรวจสอบ

ซึ่งหากทำได้เช่นนี้สถาบันกษัตริย์ไม่ว่าในประเทศใดก็ย่อมจะสามารถกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงไว้ด้วยคุณธรรม และความยุติธรรมในการที่จะสร้างแรงบรรดาลใจและเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติได้อย่างมั่นคง บริสุทธิ์ และยั่งยืน  ดังเช่นในญี่ปุ่นหรืออังกฤษ  และย่อมจะไม่จบลงด้วยความขัดแย้งจนถึงจุดสิ้นสุดดังเช่น Russia, Ethiopia ในช่วงศตวรรษที่แล้ว หรือเนปาลในศตวรรษนี้

ผมกลับมาเมืองไทยแล้วโดนฉีดยาไปเข็มหนึ่งตรงที่ด่านคุมโรค (Health Control) ที่สนามบิน เพราะผมลืมเอาเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองที่ผมเคยฉีดไปแล้วมา   แต่ในใจก็ยังคิดถึงทั้งโอกาสในอาฟริกาที่ผมคงต้องกลับไปอีกหาก UNECA สนใจจริงๆ และความทรงจำเกี่ยวกับบทเรียนเรื่องสถาบันฯจาก Ethiopia ยังคงทำให้ผมรู้สึกแปลกๆไปอีกหลายวัน

p.s. Internet ที่นั่นติดๆดับๆ แต่ตอนเข้า google ก็ยังมีหน้า google.com.et อีกแหนะ…  โห ทั่วโลกจริงๆ  แต่จะว่าไปไอ้ conference ที่ผมมานี้ก็ sponsor โดย Microsoft นะ…  โลกนี้น่าสนใจจริงๆ

5 thoughts on “ ไปหนุนกิจการเพื่อสังคมในอาฟริกา และบทเรียนเรื่องสถาบันฯจาก Ethiopia ”

  1. ขอบคุณครับ
    มีความก้าวหน้าดีๆ มาฝาก เสมอ

  2. เป็นเรื่องดีดี ที่น่าสนใจมากมาก ขอบคุณที่แบ่งปัน
    มาช่วยกันสร้างแรงจูงใจและสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้ประกอบการสังคมกันเถอะ

  3. ขอบคุณที่แชร์กันนะครับ แล้วไปคราวนี้นอกจากหนุนกิจการเพื่อสังคมแล้ว มีอะไรเพิ่มเติมน่าเอามาทำในบ้านเราบ้างไหมครับ ถ้าบ้านเรามีกิจการเพื่อสังคม คือบาลานซ์กันระหว่างสังคมกับธุรกิจได้ คงดีไม่น้อย

  4. อ่านเรื่องประชุม เรื่อง YSEI อยู่เพลินๆ
    กำลังเคลิ้ม

    มาสะดุดกับย่อหน้าท้ายๆนี่แหละ -*-

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s