ช่วงนี้ผมดีใจมากที่ได้กลับมาช่วยริเริ่มงานที่เป็นแนวที่สนใจมาตลอด นั้นก็คือการเก็บและเผยแพร่ปัญญาของคนไทยที่ควรค่าต่อการเก็บไว้ให้คนไทยได้เรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอล ผมเคยคิดตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากจะไปถอดความรู้และเก็บชิ้นงานต่างๆของคนไทยที่สุดยอดแต่อายุมากแล้ว เพื่อที่ว่าเมื่อคนเหล่านี้ไม่อยู่แล้ว หรือไม่สามารถสื่อสารได้อีกต่อไป คนรุ่นหลังทั้งในตอนนี้และอีกร้อยพันปีข้างหน้าจะสามารถเข้าถึงความคิด ความรู้ และปัญญาเหล่านี้ได้
หากจะแบ่งสารใดๆออกเป็นระดับเรียงจากศักยภาพน้อยไปมาก ก็คือ ข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา (data, information, knowledge and wisdom) ผมจะสนใจปัญญาเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่ไปเหนือความรู้ธรรมดาๆ เกิดจากประสบการณ์และการสะท้อนความเป็นมนุษย์ทั้งในเชิงศาสตร์และศิลป์แล้ว หรือสำหรับผมอาจจะเรียกว่าเป็นความเห็นทีี่มีคุณภาพ (high quality opinion) ก็ได้
ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้สำคัญกว่าข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ เป็นอย่างมาก เพราะมนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความหมายและมีประโยชน์ต่อโลกก็ต่อเมื่อเขาเกิดปัญญาขึ้นเอง หรือมีโอกาสที่เข้าถึงปัญญาของคนอื่น ที่สามารถมาสะท้อนกับจิตใจ และการมองโลกของตนได้ จนเกิดเป็นการมีปัญญาในมิติต่างๆของคนๆนั้น
ปัญญาจะช่วยให้คนมีศีลธรรม จริยธรรม และเป็นคนดีได้โดยตั้งอยู่บนความแข็งแรงของตรรกะและเหตุผล และการเก็บบันทึกปัญญาหรือความเห็นที่มีคุณภาพเหล่านี้ โดยเฉพาะจากคนที่เราเชื่อว่ามีปัญญาที่เกิดจากการทรงความรู้หรือการเข้าใจประเด็นอะไรอย่างลึกซึ้งจึงสำคัญมาก
ที่ผ่านมา คนเหล่านี้อาจจะเขียนความรู้ของตนออกมา โดยมีเนื้อหาด้านปัญญาแทรกอยู่บ้าง แต่ก็มักจะมีน้อยรายที่ทำเช่นนี้ หลายครั้งเมื่อคนเหล่านี้เสียชีวิต หลายๆสิ่งที่มีประโยชน์เหล่านี้ก็จะหายไปกับพวกเขา
นอกจากนั้น คนไทยไม่ใช่ชนชาติที่อ่านหนังสือเท่าใดนัก แต่ชอบดู ชอบฟัง ดังนั้นวิธีการบันทึกเป็นวิดีโอและเสียงจึงเป็นแนวทางที่น่าจะทำให้เนื้อหาเหล่านี้เข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับผม ในการถ่ายทำเนื้อหาสั้นๆจากแต่ละท่าน เช่นไม่เกินท่านละ 1 – 2 ชม. นั้น คำถามหลักๆ น่าจะเป็นว่า
“หากท่านจะไม่สามารถสื่อสารกับใครได้อีกต่อไป ท่านอยากฝากอะไร อยากเล่าประสบการณ์อะไรที่จะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังต่อไป ?”
ผมเชื่อมั่นว่าเนื้อหาที่ได้ส่วนใหญ่คงน่าสนใจไม่น้อย
ในตอนนี้แนวคิดเบื้องต้นก็คือไปถ่ายสัมภาษณ์ผู้ใหญ่เหล่านี้ โดยมองจาก impact ของประเด็น และอายุเป็นสำคัญ จากนั้นจึงขอและรวบรวมผลงานสำคัญๆทั้งหมดเท่าที่หาได้ ที่ท่านเหล่านั้นสร้างขึ้น แล้วแปลงเนื้อหาเหล่านั้นให้เป็น digital file คุณภาพสูงทั้งหมด แล้วนำเนื้อหาทั้งหมดขึ้นเว็บที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย
หากแม้แหล่ข้อมูลจะมาเป็นหนังสือก็ต้องแสกนเอา เมื่อก่อนหาคนแสกนยาก แต่ตอนนี้พอหาได้แล้ว ทำให้รู้สึกว่า OCR สำหรับภาษาไทยนั้นสำคัญมาก จำเป็นจะต้องหนุนส่งเสริมอย่างมาก (OCR คือโปรแกรมสำหรับแปลงไฟล์รูปที่แสกนตัวอักษร ให้มาเป็น text file ที่สามารถ search & edit ได้)
เราคิดว่าอาจจะเริ่มจากการทำรายชื่อของคนที่น่าจะไปทำกระบวนการนี้ให้ เช่น อ. เสน่ห์ อ. ประเวศ อ. รพี อ. ประสาน อ. คนึงค์ รงค์ de TuneIn หรือหากท่านเสียชีวิตไปแล้ว เช่น อ. ปรีดี อ. ป๋วย อ. สิปปนนท์ ก็น่าจะไปรวบรวมสือต่างๆเท่าที่จะทำได้ก่อน เรื่องนี้ได้คุยกับ อ. แหวว ในด้านกฏหมาย พี่ด้วง ที่ สสส. และอีกหลายท่านไว้แล้ว สงสัยว่าจะต้องรีบทำเสียที เพราะทีมทำงานที่สนใจก็ค่อนข้างจะพร้อมแล้ว ทั้งการสร้างเว็บ การรวบรวม การถ่ายวิดีโอ ฯลฯ
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการสร้างโลกออนไลน์ที่มีปัญญาเป็นพื้นฐานอยู่บ้าง โดยมีทีมงานของ TRN นำโดยไป๋เป็น project lead เห็นเขาว่าจะใช้ชื่อ OpenSchool ประมาณนี้
ผมอยากเห็นตลาดปัญญาออนไลน์ คล้ายๆกับตลาดวิชาที่ธรรมศาสตร์ยุคแรกๆเป็น คุณตาผมเล่าให้ฟังว่ายุคแรกๆนั้น อาจารย์ที่มาสอนนั้นสุดยอดทุกคน เป็นคนที่ทำงานจริงๆมีประสบการณ์ และมีปัญญามาก มีตั้งแต่เจ้าพระยาไปจนถึงอาจารย์ฝรั่ง
ผมเชื่อว่า OpenSchool อาจจะเป็นจุดเริ่มเล็กๆของโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคพื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (renaissance) อีกครั้งด้วยแรงขับเคลื่อนของโลกออนไลน์
หากไม่แล้ว อย่างน้อย ระบบนี้ก็จะเก็บบันทึกปัญญาของคนไทยบางคน ที่อาจจะมีประโยชน์ให้คนเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งในคนปัจจุบัน และคนไทยในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า
ผมหวังว่าในเวลาอีกไม่กี่สิบปี เมื่อ OCR THAI ดีพอ เมื่อภาษาไทยกลายเป็น semantic nets ได้ วันนั้นคลังแห่งปัญญาดิจิตอลนี้ก็อาจจะลุกขึ้นมามีชีวิต แนะนำคนได้ด้วยปัญญาและความเก๋าเกินคนึง อาจจะเป็นลักษณะ AI / Expert systems อะไรซักอย่างก็ได้ ผมอยากจะมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้น คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถถามระบบที่มีตรรกะ เหตุผล และจริยธรรมในการตัดสินใจ ที่รวมเอาผู้ทรงปัญญาของไทยทั้งหลายไว้ด้วยกัน
และอย่างน้อยหากเรื่องนี้สำเร็จบ้าง ภายในปีหน้าก็คงมีเด็กและผู้คนนับพันนับหมื่นหรืออาจจะถึงแสนที่จะเข้าถึึงปัญญาและข้อมูลต่างๆจากคนเหล่านี้ บางทีปัญญามวลรวมประชาชาติ (gross national wisdom) อาจจะดีขึ้นก็ได้ และปัญญาเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญของนวัตกรรมทางสังคมของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
โครงการนี้คงเป็นโครงการเล็กๆที่ค่อยๆทำไปทีละคน เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าใครสนใจอยากช่วยคิด ช่วยทำ หรือจะเสนอชื่อคนที่เราควรไปทำกระบวนการนี้ด้วย ก็เชิญเลยนะครับ อยากได้คนช่วยมากครับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ guopai.wordpress.com
ขอเสนออีก 3 ท่านคือ
คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์ สนามหลวง
อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
และ คุณโดม สุขวงศ์
ทุกท่านมีผลงานต่อเนื่องยาวนานและยังเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ได้
ผมคงไม่ได้ช่วยคุณงานนี้ในช่วงนี้ แต่เข้าใจว่าเป้าหมายก็คงเหมือนๆ กับคลังปัญญา ก็หวังว่าคุณคงเอาบทเรียนจากคลังปัญญามาปรับใช้ให้มันสำเร็จขึ้นได้
cool 😉
ความฝันของผมแต่ครั้งเยาว์วัยเช่นกัน
น่าตลก คือ โครงการล่าสุดที่ผมคิดจะตั้งขึ้นมา (แต่คุณกานต์ยังไม่เห็นด้วย)คือ Wisdom House ดันไปพ้องกับ สารขั้น 4 สูงสุดที่คุณสุนิตย์อ้างถึงพอดี
ตอนเรียนตรี ผมเคยทำโปรเจกต์เรื่อง OCR ภาษาไทย จนผมเกือบไม่ได้รับใบปริญญาเสียอีก ไม่คิดว่ามันจะมีส่วนช่วยต่อโครงการนี้
Wisdom น่าจะเป็น Asset สำคัญที่สุดในโลกอนาคต เหนือกว่า เงินทุน เครื่องจักร หรือกระทั่ง Software
Wisdom มีลักษณะเฉพาะตัว Dynamics ยิ่งกว่า Software หรือ ลิขสิทธิ์ มีความขึ้นอยู่กับ “บริบท” ลื่นไหล อิงกับอารมณ์ความรู้สึกและโลกทัศน์ของผู้ประยุกต์ใช้
ดังนั้น โครงการนี้จึงน่าสนใจมากๆๆ
Very very very Interesting Interesting !!!
ป.ล. ผมอาจต้องขอยืมถ้อยคำ ข้อความบางอันของบทความนี้ ไปใช้โปรโมต Wisdom House ของผมเสียหน่อยนะครับ แฮะๆๆ ขอบคุณล่วงหน้า
โครงการน่าสนใจค่ะ
อยากรู้เหมือนกันครับว่า OCR ในเมืองไทย พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว
(และเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะอังกฤษ)
ส่วนตัวเคยทำ OCR ภาษาไทยเป็น Senior Project เมื่อตอนปริญญาตรีเหมือนกันครับ
แถมด้วยทำ Speech Recognition ภาษาไทยตอนปริญญาโท
และได้ไปเกี่ยวพันกับ Speech Synthesis เล็กน้อยตอนทำงาน
เพียงแต่ตอนนี้เริ่มจะห่างหายจากวงการไปนานมากๆ แล้ว