เมื่อช่วงสงกรานต์ได้ไปกินข้าวกับญาติๆพร้อมกับคุณตา มีญาติรุ่นพี่คนหนึ่งเป็น Fund Manager อยู่ที่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นกองทุนเย็นที่ใหญ่ที่สุดกองหนึ่งในประเทศ เมื่อถามว่าพี่เขาเป็นห่วงเรื่องไหน หรืออยากทำอะไรที่สุดตอนนี้ เขาบอกว่าอยากไปจัดระบบการออม และการลงทุนเพื่อการเกษียณของคนไทยให้ใหม่ ทั้งในด้านการศึกษาและเชิงระบบการลงทุน
ปัญหาก็คือโครงสร้างประชากรของไทยกำลังจะเหมือนยุโรปขึ้นเรื่อยๆ คือจากปิระมิดตั้ง ไปเป็นปิระมิดกลับหัว เพราะคนสูงอายุจะเยอะขึ้นเรื่อยๆขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานจะลดลงเรื่อยๆ หากปล่อยไปอย่างงี้โดยไม่มีการจัดการใดๆ เศรษฐกิจในอนาคตของประเทศย่อมจะถดถอยและมีวิกฤตอย่างแน่นอน
เพราะระบบการประกันสังคมและระบบการลงทุนเพื่อการเกษียณยังล้าหลังอยู่มาก ย่อมจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีภาระจนกระทบกับการเจริญเติบโตของประเทศ เพราะ surplus จะต้องถูกนำไปดูแลประชากรสูงอายุ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะมีการพัฒนาแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบตลอดมา แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างแท้จริง แล้วเมืองไทยจะเหลืออะไร
ปัญหาเชิงระบบอีกข้อก็คือการออมหรือการลงทุนเพื่อการเกษียณในปัจจุบัน มักจะมียุทธศาสตร์ในลักษณะที่ ultra conservative คือไม่ยอมให้มีโอกาสเสียเลยแม่แต่ quarter เดียว ได้ดอกเบี้ยหรือปันผลน้อยไม่เป็นไร ซึ่งผลตอบแทนของการบริหารกองทุนในลักษณะนี้ย่อมจะทำได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเพียงเล็กน้อย และย่อมไม่สามารถสู้กับเงินเฟ้อได้ เช่น ถ้าคิดง่ายๆ แบบ simplify หน่อย ถ้าได้ผลตอบแทนได้เพียง 5% ในขณะที่เงินเฟ้อ 7% ในปีนั้นๆ ก็ย่อมทำให้สินทรัพย์ที่แท้จริงติดลบ 2 % นั้นเอง
ซึ่งหากปล่อยให้เรื้อรังต่อเนื่องไปก็ย่อมทำให้ผู้ออมหรือผู้ลงทุนนั้นแทบจะไม่ได้อะไรเลย แถมยังเสียอีกในระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับเอาเงินทองฝังโอ่งเอาไว้ แล้วยอมรับว่าสมบัติอาจจะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆเมื่อเปิดฝาโอ่งจะเขามาใช้ยามแก่ และทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคไม่สามารถนำเงินออมจำนวนมหาศาลนี้ ไปใช้ลงทุนในกิจการหรือโอกาสที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในกรอบซึ่งพอจะควบคุมได้เลย
ถ้าปัญหานี้แก้ไม่ได้ เรื่องสุขภาวะผู้สูงวัยในอนาคตนั้นแทบไม่ต้องพูดกันเลย
กระบวนคิด ultra conservative ในลักษณะนี้ ในสภาวะที่ฐานประชากรที่สร้างรายได้จริงลดลงเรื่อยๆ ย่อมเป็นการปิดประตูการใช้เงินเก็บของคนในยุคนี้เพื่อไปขยายการลงทุนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ และย่อมไม่นำไปสู่การยอมรับความจริงว่า
(1) ประชาชนทั่วไปผู้ต้องการออมย่อมไม่มีความสามารถในการจะบริหาร จัดการการลงทุนเพื่อการเกษียณที่ต้องได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ (inflation) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเกิดสถาบันการลงทุนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคล้ายในต่างประเทศ
(2) บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนรวมทั่วไป ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการจัดการการลงทุนในลักษณะนี้ และมักคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าความจำเป็นและความเหมาะสมของผลประโยชน์ผู้ออมผู้ลงทุน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือการลงทุนเพื่อสังคม ในลักษณะที่ไม่ใช่ทุนให้เปล่านั้น ในต่างประเทศนั้นที่มาของการลงทุนเพื่อสังคม (Non-grant social investment) หรือการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (SRI Funds) นั้นก็มักจะมาจากกองทุนหรือลูกค้าของสถาบันการเงินที่มุ่งเป้าเก็บเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณหรือเป็นการจัดการทรัพย์สินระยะยาวแทบทั้งสิ้น หากตลาดการลงทุนเพื่อการเกษียณของไทยยังคับแคบแบบนี้ การเจริญเติบโตของทั้งการลงทุนเพื่อสังคมและ SRI ก็คงจะไม่สดใสนักเช่นกัน
สิ่งที่น่าจะต้องลองคิดว่าจะทำอย่างไรก็คือ
1. การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ด้านการออมการลงทุนเพื่อการเกษียณ หรือเพื่อดูแลตัวเองเมื่อยามมีอายุมาก ซึ่งอาจจะต้องทำลงไปถึงระดับโรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ ใช้ระบบ IT เพื่อทำให้เกิด account การเก็บที่ interactive มีการแข่งขัน เปรียบเทียบ เรียนรู้ในลักษณะหนึ่งลักษณะใดได้อย่างกว้างขวาง คล้ายๆเป็นการปลุกกระแสการออมเหมือนยุคธนาคารออนสินให้กลับมาอีกครั้ง แต่เหมาะกับยุคปัจจุบัน
2. ศึกษาจัดตั้งสถาบันการลงทุนที่เชี่ยวชาญในการลงทุนเพื่อการเกษียณ ที่ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น หรือนวัตกรรมในการบริหารจัดการทางการเงินอื่นๆ ทั้งในเชิงระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆ โอกาสในการตั้งเป็นเอกชน รัฐ หรือเป็นองค์กรอิสระ และการใช้หรือพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมรองรับ เพื่อให้ประชาชนและกองทุนต่างๆนำเงินมาลงทุน
3. การพัฒนาแนวทาง standard และระเบียบการลงทุนที่เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ แล้วประยุกต์เข้ากับสถาบันการเงิน หรือกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีอยู่แล้ว
เรื่องนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำเริ่มต้นอย่างไร แต่คิดว่าสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของคนไทยมากๆ คิดว่าต้องแนะนำให้พี่เขารู้จักกับคุณคนชายขอบเสียแล้ว เพื่อจะนำไปสู่อะไรที่ชัดเจนได้