(ภาพทั้งหมดจากเว็บ http://komyo.burmachannel.com/ )
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 51 ได้เข้าร่วมประชุมวงเล็กๆอย่างไม่เป็นทางการ ที่มีองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่พยายามจะระดมความช่วยเหลือไปยังประเทศพม่าอันเนื่องมาจากพายุนากิส โดยในวงเป็นการประเมินสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย และมีประเด็นที่ผมรู้สึกสำคัญคือ
การช่วยเหลือแทบไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที แม้จะมีทรัพยากรมากเพียงใด เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้ต่างชาติเข้าไปช่วย เนื่องจากกลัวผลกระทบทางการเมือง แต่แน่นอนว่าการที่รัฐบาลไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชน แถมยังไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามาช่วยนั้น ย่อมเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อการเมืองของพม่าในระยะกลางถึงยาว เมื่อมีผู้เสียชีวิตเป็นแสนและรัฐบาลมีส่วนรับผิดชอบ มีผู้กล่าวไว้ว่ารัฐบาลเผด็จการไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ จุดนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าก็ได้
การช่วยเหลือแบบเป็นทางการที่ส่งผ่านไปยังรัฐบาลทหารนั้น แทบไม่มีโอกาสไปถึงประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อะไรดีๆก็จะมีโอกาสโดนทหารยึดไว้เองแทบทั้งหมด ซึ่งคนไทยที่พยายามช่วยกันบริจาคผ่านกลไกที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลต่อรัฐบาล เช่นสภากาชาด ฯลฯ นั้นก็จะมีความเสี่ยงที่ของหรือเงินไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มากทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นการทำให้รัฐบาลทหารเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ช่วยเหลือประชาชนเอง ทั้งๆที่นำความช่วยเหลือนั้นมาจากคนอื่น และผูกขาดช่องทางการช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะกลายเป็นบุญเป็นคุณกันในอนาคต จนบิดเบือนความจริงไปได้ (พฤติกรรมนี้ชนชั้นปกครองทุกที่เป็นหมด โดยเฉพาะพวกเหนือมนุษย์)
ช่องทางที่น่าจะมีประสิทธิภาพกว่า ในการส่งความช่วยเหลือต่างๆก็คือการส่งผ่านองค์กร และเครือข่ายที่มีความน่าเชื่อถือและมีหน้างานอยู่ในพม่าอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ก็ยังมีเครือข่ายนักศึกษา เครือข่ายพระ และเครือข่ายหมออยู่จำนวนไม่น้อย สำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมโยงให้ผู้สนใจอยากช่วยเหลือพม่า ได้รู้จักช่องทางเหล่านี้มากขึ้น
การจัดการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ลงไปในพื้นที่ โดยเฉพาะข้อมูลที่ทำให้ฝ่ายสนับสนุนสามารถรับรู้ได้ว่าตอนนี้ที่หน้างานมีปัญหาอะไร มีคนทำงานอยู่มากน้อยเท่าไหร่ ทำอะไรบ้าง อยู่ในพื้นที่ใดบ้าง-กระจายตัวอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออะไร หากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลแล้วก็จะคล้ายๆกรณีซึนามิที่การช่วยเหลือลงมามหาศาลแต่ก็ค่อนข้างขาดโอกาสที่จะเชื่อมโยงและติดตาม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการจัดการข้อมูลแบบเปิดไม่รวมศุนย์ ผ่านเว็บไซต์และเครื่องมืออนไลน์เช่น google map & google earth ก็น่าจะช่วยได้บ้าง จากที่ดูๆความเคลื่อนไหวของ google เบื้องต้น ก็เห็นว่าทางนั้นก็กำลังมีการขับเคลื่อนกำลังและความช่วยเหลือทั้งในด้านเทคนิคและการบริจาคในกรณีดังกล่าวเช่นกัน น่าจะเชื่อมโยงกับข้อมูลความช่วยเหลือที่จะออกจากฝ่ายไทยได้
การก้าวพ้น propaganda ทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยพม่า
สุดท้ายก็คือหลายๆคนประเมินไว้ว่าสุดท้ายคนไทยเองก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง นั้นจำกัดความสามารถในการช่วยเหลือของเรา แต่ที่สำคัญก็คือการที่จะใช้เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสที่จะสร้างความเห็นอก เห็นใจ และเข้าใจความสัมพันธ์ของไทยและพม่าที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะปอกเปลือกประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนความจริงระหว่างสองชาตินี้ ซึ่งฝังอยู่ในหัวคนไทยตั้งแต่สมัยชาตินิยมสุดขั้ว แล้วทำให้คนไทยเห็นพม่าเป็นเพื่อนบ้าน และปฏิบัติต่อพวกเขาโดยเครพสิทธิมนุษยชนของพวกเขา โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันแรงงานพม่านับล้านในประเทศไทย ซึ่งหากขาดไปแล้วเศรษฐกิจไทยเองก็ย่อมจะมีปัญหา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติอยู่บ้าง
การเห็นว่าคนกลุ่มน้อยในไทยนี้ที่แม้ว่าจะถูกสิ่งที่ถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์ทำให้คนไทยมองเป็นศัตรูนั้นแท้จริงก็เป็นมนุษย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็ย่อมต้องถูกบังคับและล้างสมองโดยชนชั้นปกครอง เหตุการณ์ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว เราต้องช่วยกันปกป้องสิทธิของพวกเขา ไม่หลงงมงายกับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างเสริมเติมแต่งขึ้นเพราะความจำเป็นในยุคก่อนๆ และทำให้สุวรรณภูมิกลายเป็นดินแดนที่เป็นแผ่นดินทองขึ้นมาอีกหน่อย
หากเราสามารถมองคนอื่นโดยตั้งอยู่บนความเป็นจริงได้แล้ว ก็อาจจะมีโอกาสที่คนไทยจะมองประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของประชาชนสยามที่ตั้งอยู่บนความจริง ข้อมูลจริงมากขึ้น ไม่มากก็น้อย… และสิ่งนี้อาจจะทำให้คนไทยตาสว่างมากขึ้น อาจจะช่วยให้อนาคตของประชาชนไทยผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเผชิญอยู่นี้ไปได้ดีขึ้้น และเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนของเพื่อนร่วมชาติต่างชนชั้นกันมากขึ้น
อีกอย่างพายุลูกนี้เดิมจะเข้าบังคลาเทศ แต่ภายในเวลาสั้นๆก็ U-Turn มาชนพม่า เมืองไทยก็อาจจะเป็นรายต่อไปได้ในอนาคตอันใกล้….
ไม่ได้ช่วยอะไรมาก
ได้เพียงแต่บริจาคเงินเล็กน้อยผ่านทาง Google (เพราะมันง่าย! ว่างั้นเถอะ)