Information Design to change the world!
การออกแบบเพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ เรื่องเล็กๆที่อาจเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
ปัญหาหลักของทุกวงการในยุคนี้นอกจากเรื่องเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็คือเรื่องข้อมูลทะลัก ด้วยความรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคนิควิธีการค้นหาข้อมูลต่างๆทำให้ข้อมูลเต็มไปหมด ปัญหาใหญ่ก็คือการที่จะจัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้รู้เรื่อง บางทีภาษาชาวบ้านจะเรียกว่าการย่อยข้อมูล
ภาคธุรกิจเองก็เริ่มมีตัวช่วยใหม่ๆจะกลุ่มนักออกแบบที่สามารถนำข้อมูลสถิติมหาศาลมาจัดระบบให้เข้าใจง่ายแล้วใช้ภาพหรืออนิเมชั่นมาช่วยในการสื่อสารให้ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย วิธีการนำเสนอข้อมูลด้วยภาพในลักษณะนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Information Visualization ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในกระแสการออกแบบที่ฮ๊อตที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านห่างไกลหรือผู้บริหารระดับสูงก็ล้วนต้องการรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่ายๆสั้นๆนำไปสู่การตัดสินได้ทั้งนั้น
คราวนี้ภาคสังคมที่มีข้อมูลมหาศาลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลความยากจน ข้อมูลการเมือง ข้อมูลงบประมาณ ฯลฯ ข้อมูลที่ล้นทะลักเหล่านี้หากไม่ได้รับการนำมาจัดรูปแบบที่เหมาะสมนั้นย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่นไม่สามารถตัดสินใจจากข้อมูลได้เพราะข้อมูลเยอะแยะซับซ้อนเกิน หรือบางทีความสัมพันธ์บางอย่างที่มีอยู่ชัดๆในข้อมูลงบประมาณของชาติก็ไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะตัวเลขเยอะแยะไปหมด ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ ไม่เข้าใจว่าจะสรุปเรื่องนั้นๆอย่างไร
แต่เริ่มมีนักออกแบบหลายกลุ่มทั่วโลกเริ่มมาจับงาน Information Visualization เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบมากขึ้น จนนำไปสู่การที่คนในสังคมจะสามารถเข้าใจประเด็นยากๆได้ง่ายขึ้น หรือผู้บริหารก็สามารถตัดสินใจต่างๆได้ง่ายขึ้นจากการออกแบบการนำเสนอข้อมูลที่ดีขึ้น
ตัวอย่างมีมากมาย เช่น นาย ฮัน โรสลิ่ง นักวิชาการจากสวีเดนได้สร้างระบบการนำเสนอภาพเคลื่อนไหวจากข้อมูลสถิติสำคัญๆด้านสุขภาพอัตโนมัติ (www.gapminder.org) ซึ่งทำให้คนทั่วไปและผู้บริหารองค์กรสำคัญๆของโลกเห็นความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลอย่างชัดเจน เช่นการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับสุขภาพที่ดีขึ้นในประเทศนับสิบประเทศโดยใช้อนิเมชั่นง่ายๆ ให้ผู้ชมสามารถเลือกดูความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆได้เองและสร้างอนิเมชั่นได้อย่างอัตโนมัติ จนทำให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เกิดข้อถกเถียงอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่อนิเมชั่นนั้นได้แสดงไว้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำรูปที่แสดงเปรียบเทียบการหาเสียงและการระดมความมีส่วนร่วมของประชาชนระหว่างนายบารัค โอบามา และนายจอน เมคเคน ว่าแตกต่างกันอย่างไร โครงสร้างการระดมทุนต่างกันอย่างไร จนเห็นได้ชัดว่านายโอบามาแม้จะระดมเงินหาเสียงได้มหาศาลแต่ส่วนใหญ่แล้วมาจากเกินก้อนเล็กๆคนละไม่กี่สิบเหรียญของคนจำนวนมหาศาล เมื่อเทียบกับนายจอนเมคเคนที่เงินหาเสียงเป็นลักษณะดั้งเดิม คือมาจากคนรวยๆเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาพที่ให้นัยยะสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอเมริกันอย่างมาก
ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการออกแบบรูปจากข้อมูลที่สำคัญกับสังคมเช่นเดียวกัน เช่นตัวอย่างของกลุ่ม Siam Intelligence Unit ซึ่งนำเอาข้อมูลงบประมาณปี 52 นี้มาออกแบบเป็นภาพ ใช้ขนาดของวงกลมแสดงขนาดของงบประมาณของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลได้อย่างน่าสนใจ ผู้ที่เห็นภาพนี้ย่อมสามารถค้นหาความสัมพันธ์ของงบประมาณกับสิ่งต่างๆที่ตนเองสนใจได้อย่างตื่นเต้น
การออกแบบภาพจากข้อมูลนั้นจึงจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสังคมสามารถที่จะเอาเครื่องมือนี้มาใช้เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในเรื่องสำคัญๆต่างๆได้ง่ายขึ้น บางทีจุดเล็กๆเช่นนี้อาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็เป็นได
ตอบแล้วจ้า http://www.isriya.com/node/2463/what-essential-for-visualization
ชอบมากเลย … ดูง่าย เข้าใจเร็ว