ผมเพิ่งกลับมาจากสหราชอาณาจักร  เนื่องจากได้ไปร่วมการประชุมองค์กรผู้ผลักดันงานด้านกิจการเพื่อสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเชีย และไทย พร้อมๆกันนี้ก็มีโอกาสไปศึกษาดูงานในสหราชอาณาจักรในประเด็นกิจการเพื่อสังคมอีกด้วย   งานนี้เป็นกิจกรรมที่ริเริ่ม จัดการ และสนับสนุนโดย British Council ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสร้างความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่ดีระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น (ไม่ใช่เพียงที่เรียนภาษาอังกฤษ)  เลยได้สรุปไว้เผื่ออาจจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นที่อาจสนใจบ้าง

1. บทบาทของรัฐ และเทคนิควิธีการ

แม้สหราชอาณาจักรจะมีกิจการเพื่อสังคมที่หลากหลายอยู่มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักยอมรับในสังคมวงกว้างอย่างในปัจจุบัน  จากการที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับองค์กรต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในวงการกิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร ก็พอจะสรุปความได้ว่าบทบาทของรัฐนั้นสำคัญอย่างมาก ในการยกระดับประเด็นนี้ขึ้นมากลายเป็นประเด็นระดับชาติ จนสามารถขับเคลื่อนความสนใจและทรัพยากรจำนวนมากมาผลักดันจนทำให้กิจการเพื่อสังคมมีมาถึงราว 60,000 องค์กร และยังเกิดผลทางเศรษฐกิจได้กว่า 2 หมื่น 7 พันล้านปอนด์อีกด้วย

หลักการสำคัญที่ทำให้รัฐบาลให้ความสนใจในประเด็นกิจการเพื่อสังคมก็คือการมองเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาโอกาสทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในรูปแบบที่มีความยั่งยืนทางการเงิน สามารถขยายผลได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งต่างกับการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมทั่วไปซึ่งมักจะจบลงเมื่อไม่สามารถระดมทุนให้เปล่าได้เมื่อหมดโครงการ  อีกทั้งยังเป็นการใช้ระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นการพัฒนาที่ดึงเอาภาคส่วนต่างๆที่ปกติจะถูกทอดทิ้งจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจให้มาร่วมมีส่วนร่วม  เช่น กลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนยากจน ผู้พิการ และคนจรจัดเป็นต้น   โดยทั้งหมดทั้งสิ้นขึ้นกับความสามารถของเอกชนที่จะใช้ความเป็นผู้ประกอบการมาพัฒนาโอกาสทางสังคมให้เกิดผลได้อย่างยั่งยืน  บทบาทของภาครัฐจึงเป็นการสนับสนุนในลักษณะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการประกอบการเพื่อสังคมผ่านกิจการต่างๆได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ

เดิมทีเดียวงานด้านกิจการเพื่อสังคมนั้นอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ฯ  แต่ได้มีการปรับมาไว้ภายใต้สำนักงานภาคส่วนที่ 3 (Office of the Third Sector) สำนักนายกรัฐมนตรี (Cabinet office) เพื่อยกระดับให้เป็นประเด็นที่สำคัญ และสามารถทำงานข้ามหน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชนได้อย่างสะดวกขึ้นในเชิงนโยบาย   สำนักงานภาคส่วนที่ 3 นั้นรับผิดชอบงานขับเคลื่อนพัฒนาเครือข่าย องค์กร หน่วยงานที่เป็นภาคประชาสังคม อาสาสมัคร และมีกิจการเพื่อสัังคมเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นรับผิดชอบ

นิยามของกิจการเพื่อสังคมนั้นทางรัฐบาลได้ให้คำจำกัดความกว้างๆไว้ว่าเป็นธุรกิจซึ่งมีเป้าหมายการก่อตั้งเพื่อสังคมเป็นหลัก และลงทุนส่วนกำไรกลับไปยังการขยายงานตามเป้าหมายนั้นๆ หรือในการลงทุนในชุมชน และไม่ได้มุ่งหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเป็นหลัก   ซึ่งในสหราชอาณาจักรเองก็ยังมีการถกเถียงเรื่องนิยามต่างๆอยู่อย่างมาก แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ก็พบว่าเป็นการป่วยการที่จะถกเถียงในเชิงนิยามความหมายจนเกินพอดี แต่เน้นที่จะกำหนดนิยามที่เหมาะสมสำหรับแต่ละหน่วยงานที่จะดำเนินการไปได้เองเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นจะต้องให้มีความหมายที่ชัดเจนอย่างที่สุดที่เป็นที่ยอมรับกันในทุกภาคส่วน  ดังนั้นนิยามของภาครัฐจึงเป็นเพียงนิยามกว้างๆที่แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องพอจะยอมรับได้ เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างนั้นเอง

นโยบายหลักของการพัฒนากิจการเพื่อสังคมของรัฐนั้นแบ่งเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ คือ

(1) การสร้างวัฒนธรรมด้านกิจการเพื่อสังคม ผ่านการสื่อสารและเรียนรู้ในสังคม เช่น การเผยแพร่แนวคิด หลักการ และ ตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมไปในวงกว้าง ทั้งในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษา คนทำงาน และแม้แต่ผู้สูงอายุ  นอกจากการสื่อสารกับประชาชนแล้วยังมีการสื่อสารไปยังภาคธุรกิจ และภาครัฐเพื่อให้รู้จักและแสวงโอกาสที่จะร่วมมือกับกิจการเพื่อสังคมในลักษณะที่ได้กันทุกฝ่าย (win-win) อีกด้วย  นวัตกรรมที่น่าสนใจนอกจากเรื่องหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนรู้ต่างๆก็คือการทำแบรนด์ “ป้ายกิจการเพื่อสังคม (social enterprise mark)” เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าและบริการสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าและบริการใดเกิดจากกิจการเพื่อสังคม

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเคมเปญ “Make your mark with a tenner” ซึ่งเป็นเคมเปญที่ทำกับเด็กนักเรียนทั่วสหราชอาณาจักร โดยมีโจทย์ว่านักเรียนจะใช้เงิน 10 ปอนด์ ในการไปทำธุรกิจจิ๋วๆที่ทั้งทำเงินเพิ่มและสร้างความแตกต่างเพื่อสังคมสิ่งแวดล้อม ภายในหนึ่งเดือน ได้อย่างไร?  โดยปรากฏว่ามีนักเรียนกว่า 30,000 คนทั่วสหราชอาณาจักรเข้าร่วมโครงการ เสนอโครงการ รับเงิน 10 ปอน์ดไปดำเนินกิจการ และคืนเงินกลับให้โครงการภายในหนึ่งเดือน  โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการคาดว่ามีการเกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจถึง 1.2 ล้านปอน์ด จากเงินเพียง 10 ปอนด์ของเด็ก 30,000 คนดังกล่าว  เคมเปญนี้ได้รับความยอมรับอย่างมากว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่าอย่างยิ่งในการสร้างการรับรู้เรียนรู้ทั้งในด้านการประกอบการ และกิจการเพื่อสังคม ที่แม้แต่เด็กนักเรียนก็ยังเข้าใจได้

(2) การพัฒนาศักยภาพของกิจการเพื่อสังคม เช่น การสนับสนุนให้เกิดองค์กรตัวกลางจำนวนมากที่สามารถเข้าไปช่วยกิจการเพื่อสังคมในการพัฒนาศักยภาพแต่ละด้านของตน เช่น การวางแผนธุรกิจ การจัดการทางการเงิน ภาษี การจัดการด้านกฏหมาย การพัฒนาการตลาด การระดมทุน ฯลฯ​  และมีการร่วมมือกับหน่วยงานที่หลากหลายในการจัดการฝึกอบรมในประเด็นดังกล่าว

(3) การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงเงินทุน เช่น การพัฒนากองทุนสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โดยมักจะสนับสนุนผ่านองค์กรตัวกลางที่จัดกระบวนการคัดเลือก ตัดสิน และลงทุนทั้งในลักษณะให้เปล่า สินเชื่อ และเงินลงทุนในหุ้น ไปพร้อมๆกับการพัฒนาศักยภาพของกิจการเพื่อสังคมนั้นๆ  ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกการเงินในลักษณะที่เรียกว่า Wholesale Bank คือเป็นคล้ายๆกับกองทุนขนาดใหญ่ที่สามารถปล่อยต่อให้สถาบันการเงินด้านสังคมสามารถนำไปลงทุนในรายย่อยต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ

(4) การส่งเสริมเปิดโอกาสให้ทำงานกับองค์กรของรัฐ เช่น การให้ข้อมูลความรู้กับภาครัฐในส่วนต่างๆเพื่อให้เห็นประโยชน์ของกิจการเพื่อสังคมต่องานของตน โดยมีตัวอย่างที่สำเร็จคือกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเห็นว่ากิจการเพื่อสังคมสามารถช่วยเสริมระบบบริการสุขภาพ และกลไกการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสามารถลดการลงทุนของรัฐในประเด็นดังกล่าวได้ในระยะยาว อีกทั้งยังส่งเสริมการกระจายอำนาจและการจัดการตัวเองในระดับชุมชน  จึงเกิดการพัฒนากองทุนเพื่อกิจการเพื่อสังคมในประเด็นสุขภาพขึ้น โดยมีขนาดราว 100 ล้านปอนด์ มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงทุนหลัก   อีกหน่วยงานหนึ่งที่กำลังให้ความสนใจอย่างมากคือกระทรวงยุติธรรม ซึ่งพบว่ากิจการเพื่อสังคมสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแล ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพและโอกาสต่างๆสำหรับนักโทษและผู้ที่เพิ่งถูกปล่อยตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับโครงการคล้ายๆกันที่กระทรวงเป็นผู้ดำเนินการเอง  โดยเฉพาะประสิทธิภาพของกิจการเพื่อสังคมในการลดอัตราการที่นักโทษจะกลับเข้าไปในวงจรอาชญากรรมอีกครั้ง จนต้องถูกจับและเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้งซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลของภาครัฐ   กระบวนการที่น่าสนใจในการสร้างความสนใจในภาครัฐด้วยกันเองเพื่อมาสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมนั้นคือการตั้งงบประมาณการทำวิจัยกึ่งปฏิบัติการที่ให้หน่วยงานของรัฐต่างๆสามารถเขียนโครงการวิจัยมาเสนอขอได้เพื่อใช้ในการศึกษาว่ากิจการเพื่อสังคมจะเกี่ยวกับภาระงานของตนได้อย่างไร  เมื่อได้ผลวิจัยแล้วค่อยๆขยายผลไปในแต่ละกระทรวง/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  นอกจากประเด็นการสร้างความสนใจของหน่วยงานของรัฐแล้วยังมีการปรับปรุงและทำคู่มือกระบวนการจัดซื้อจัดการเพื่อเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคมเข้ามาร่วมแข่งขันเสนอราคาในงานต่างๆของรัฐได้อย่างยุติธรรมและโปร่งใสอีกด้วย

เมื่อได้ถามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานภาคส่วนที่สาม ถึงบทเรียนสำคัญที่ทำให้งานพัฒนากิจการเพื่อสังคมของสหราชอาณาจักรประสบผลสำเร็จพอสมควร พวกเธอ (ซึ่งเป็นข้าราชการหญิงรุ่นใหม่ทั้งคู่) ได้ตอบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงาน องค์กร และกิจการเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้อง  เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้ทำงานจริงๆในประเด็นนี้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา และยังสามารถสื่อสารข้อจำกัดต่างๆของรัฐให้พวกเขาเข้าใจ เพื่อร่วมหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกัน  ซึ่งในสหราชอาณาจักร องค์กร หน่วยงาน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเพื่อสังคมมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรตัวแทนซึ่งเรียกว่า “Social Enterprise Coalition” ซึ่งมีหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงร่วมมือในหมู่เครือข่ายและองค์กรภายนอก รวมถึงภาครัฐอีกด้วย

นอกจากนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือความสามารถที่จะวัดผลของการพัฒนากิจการเพื่อสังคมในภาพรวมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้เพราะงบประมาณของรัฐบาลในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจย่อมมีแนวโน้มที่จะลดลงในภาพรวม การลงทุนของรัฐจึงจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจุดตัดสินก็คือหลักฐานที่วัดผลได้ว่ากิจการเพื่อสังคมเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการพัฒนาประเทศชาติแค่ไหน อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรตัวกลางที่ทำหน้าที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในแง่มุมต่างๆนั้นได้ทุนมาจากรัฐบาลเป็นหลัก หากงบประมาณมีการปรับลดย่อมจะกระทบกับพัฒนาการของกิจการเพื่อสังคมอย่างแน่นอน

ประเด็นสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานภาคส่วนที่สามได้ฝากเอาไว้ก็คือปรากฏการณ์ที่ผู้คนในอังกฤษทั้งคนทั่วไป และในภาคธุรกิจต่างให้ความสนใจอย่างมากกับกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นทวีคูณนั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนต่างเห็นว่าทุนนิยมแบบดั้งเดิมอาจจะไม่เพียงพอและมีความเสี่ยงอย่างมาก ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมกลับพบว่าส่วนใหญ่มีการขยายตัวในขณะที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจถอถอยอันเนืื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก  ดังนั้นภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และพยายามจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคการเงินการลงทุนให้เข้ามามีบทบาทหนุนเสริมกิจการเพื่อสังคมในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของสถาบันการเงินพิเศษที่เชี่ยวชาญด้านกิจการเพื่อสังคมโดยเฉพาะ เช่น Triodos Bank, Charity Bank ฯลฯ​ ซึ่งเป็นภาคเอกชนล้วนๆไม่ได้รับการสนับสนุนหรือหนุนเสริมจากภาครัฐแต่อย่างใด  ดังนั้นอนาคตของการพัฒนากิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักรจึงขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นสำคัญ

#ติดตามตอนต่อไปตามแผนการเขียนด้านล่าง   ขณะนี้เมื่อยมือเป็นอย่างมาก จึงต้องพักสักครู่หนึ่ง

2. บทบาทขององค์กรตัวกลาง

Unltd

SSE

Eastside

3. บทบาทของกิจการเพื่อสังคมที่หลากหลาย

4. สถานการณ์ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก

4. โอกาสและความเสี่ยง

5 thoughts on “ อังกฤษและกิจการเพื่อสังคม; บทเรียนสำหรับเมืองไทย #1 ”

  1. Pingback: Anonymous
  2. Pingback: maigrir
  3. Pingback: casino en ligne
  4. Pingback: SEAN

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s