นักการเงินกับการพัฒนาสังคมเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะห่างไกลกันคนละขั้ว แต่หากเรามองไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนานกับประเทศไทย เราอาจจะเริ่มเห็นบทบาทของนักการเงินที่จะเป็นคานงัดสำคัญที่อาจจะพลิกพื้นสังคมให้พ้นไปจากวิกฤตครั้งนี้ได้

Switzerland!

ประเทศสวิสฯนอกจากจะมีชื่อเสียงเกี่ยวกับภาคการเงินแล้ว ยังเป็นประเทศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ชีวิตในช่วงการเรียนรู้และพัฒนาความคิดของพระองค์ องคมนตรีท่านหนึ่งเคยเล่าว่าที่มาของโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความประทับใจของระบบห้องสมุดและสารานุกรมในประเทศสวิสเซอร์แลนด์จึงดำริว่าเด็กไทยเองก็ควรมีโอกาสเข้าถึงความรู้เช่นนั้นบ้าง นอกจากนั้นแนวคิดเรื่องระบบสหกรณ์ที่พระองค์ทรงนำมาเน้นหนักให้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ในประเทศสวิสฯระบบสหกรณ์มีความแข็งแรงมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรหรือแม้ภาคการค้าปลีกเช่นห้างสรรพสินค้านั้นก็ล้วนมีสหกรณ์เป็นธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยศักยภาพพร้อมๆกับความล้ำสมัยทางเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้รายได้มหาศาลที่เกิดจากการพัฒนาภาคเกษตรและการค้าปลีก จึงตกอยู่กับเกษตกรและประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ เป็นที่น่าเสียดายที่ภาคสหกรณ์ในประเทศไทยยังไม่สามารถขยายตัวได้ดังพระราชดำริ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในประเทศไทยส่วนหนึ่งก็เกิดจากความล้มเหลวที่จะใช้ระบบสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่นำในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

lib

จะเห็นได้ว่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์อาจมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำแนวคิดสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีปรากฏการณ์ใหม่ๆของสวิสที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะบทบาทของภาคตลาดทุนต่อการพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อม สวิสฯเป็นประเทศที่มีภาคการเงินที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ามีศักยภาพ มีเสถียรภาพ น่าเชื่อถือ และมีความสำคัญระดับโลก แม้ในช่วงวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา ประเทศสวิสก็สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และในภาคการเงินนี้เองก็มีนวัตกรรมการเงินการลงทุนเพื่อสังคมระดับโลกที่น่าเรียนรู้อย่างมากสำหรับนักการเงินและนักลงทุนไทย

การเงินการลงทุนเพื่อสังคมในสวิสฯอาจจะแบ่งได้เป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือสิ่งที่เรียกว่าการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment) ซึ่งเรียกสั้นๆว่า SRI และส่วนที่สองก็คือการลงทุนโดยตรงในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อสังคมสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การลงทุนในกิจการเพื่อสังคม หรือโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างรายได้ ส่วนที่สองนี้มักจะเรียกว่า Impact Investment ซึ่งจากการประมาณการณ์ในปี 2009 พบว่าทั้งสองส่วนนี้มีมูลค่ารวมถึงสามหมื่นสี่พันล้านสวิสฟรัง (34 Billion CF) หรือราวหนึ่งแสนล้านบาท

ในส่วน SRI นั้นมักจะลงทุนในหุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์ต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ผ่านเกณฑ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) อย่างเข้มข้นพอสมควร มีการรายงานเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนและวัดผลได้ กล่าวคือเป็นการใช้เงินลงทุนผลักดันสนับสนุนให้กิจการสำคัญๆทั่วโลกมีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนั้นกองทุน SRI จำนวนมากยังเข้าไปมีบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นที่จูงใจและแนะนำให้บริษัทต่างๆดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น การที่ตลาดทุนของสวิสฯเป็นตลาดทุนที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงการลงทุนไปทั่วโลกนั้น เมื่อมีวาระสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมพ่วงไปด้วย จึงย่อมเกิดผลมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยทั่วไปแล้วผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนประเภท SRI นั้นมักจะไม่น้อยไปกว่าอัตราตลาด และยังเชื่อว่าบริษัทที่เข้าไปลงทุนนัั้นเมื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบวัดผลได้ จึงย่อมจะมีแนวโน้มที่จะมั่นคงกว่าบริษัทอื่นๆอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นจุดขายสำคัญของกองทุนประเภทนี้ก็คือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้มีสินทรัพย์เป็นจำนวนมากนั้นสามารถที่จะมีทางเลือกที่จะลงทุนได้อย่างยั่งยืนและมีประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

s

นอกจาก SRI แล้ว บทเรียนที่อาจจะเรียกได้ว่าน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือประเด็น Impact Investment ซึ่งเน้นไปลงทุนเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยตรง โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นที่เข้าใจกันว่าการสร้างคุณค่าทางสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องทำผ่านมูลนิธิและองค์กรสาธารณะประโยชน์เท่านั้น ซึ่งที่มาของทุน (source of fund) ก็ย่อมจะต้องเป็นการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามกระแสโลกเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นล้ำหน้าไปกว่าขั้นดังกล่าวอย่างมาก ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะกิจการเพื่อสังคม และองค์กรในลักษณะอื่นๆที่สามารถสร้างคุณค่าทางสังคมได้โดยไม่ต้องใช้ทุนให้เปล่า แต่กลับสามารถสร้างรายได้และขยายผลงานของตนได้อย่างกว้างขวางและมีความแข็งแรงทางการเงินอีกด้วย ตัวอย่างเช่นกิจการเพื่อสังคมในประเด็นต่างๆเช่น การเงินชุมชน (micro-finance) เกษตรยั่งยืน การค้าขายที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต (fair trade) พลังงานทดแทน การท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน สุขภาพทางเลือก ฯลฯ ซึ่งองค์กรเหล่านี้สามารถใช้เงินทุนได้ทั้งในลักษณะการลงทุนในหุ้น สินเชื่อ และเครื่องมือการเงินต่างๆ ซึ่งล้วนจะนำไปสู่การสร้างผลที่เป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก พร้อมๆไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการเงินตามสมควรอีกด้วย

ตัวอย่างของกองทุนสวิสฯประเภท Impact Investment ที่น่าสนใจก็คือ Blue Orchard ซึ่งบริหารจัดการกองทุนที่ไปลงทุนกับองค์กรการเงินชุมชนทั่วโลก (Micro-finance Institution) กล่าวได้ว่าเป็นกองทุนแม่ (Fund of funds) ที่ลงทุนกับกองทุนลูกทั่วโลกซึ่งไปปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กมากให้กับผู้คนทั่วโลก คล้ายกับกรณีธนาคารกรามีนของบังคลาเทศที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ยากจนสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างอาชีพของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกองทุน Blue Orchard นั้นมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Assets under Management -AuM) อยู่ราวเกือบหนึ่งพันล้านสวิสฟรัง ล่าสุดได้เปิดกองทุนใหม่ Bamboo Finance ที่เน้นไปลงกับกิจการเพื่อสังคมที่สร้างสินค้าและบริการให้กับคนจนทั่วโลก เช่น ระบบจัดการน้ำขนาดเล็กสำหรับเกษตกร บริการทางการแพทย์เพื่อชุมชนยากจน บริการพลังงานทดแทนและไฟฟ้าสำหรับชุมชนห่างไกล เป็นต้น

sustainable food

นอกจากนั้นก็ยังมีบริษัท ResponsAbility ซึ่งเป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่าแปดร้อยล้านสวิสฟรัง ซึ่งเน้นไปลงทุนกับกิจการเพื่อสังคมในประเด็นสำคัญๆ เช่น สื่อเสรี การค้าที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต การเงินชุมชน กิจการเพื่อสังคมประเภทอื่นๆ รวมถึง SMEs ในประเทศที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจของตนได้อีกด้วย จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการที่ ResponsAbility และพันธมิตรเข้าไปพัฒนากองทุนที่เรียกว่า Media Development Loan Fund (MDLF) หรือกองทุนสินเชื่อระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสื่อเสรี ซึ่ง MDLF มีบทบาทสำคัญในการลงทุนในสื่อเสรีและสื่อพลเมืองที่ขยายผลได้ทั่วโลก ประเภทของสื่อที่เข้าไปลงทุนนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เครือข่ายวิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ เช่น ในประเทศมาเลเซีย สื่อเสรีที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งก็คือเว็บไซต์ข่าวมาเลเซียคินี่ ซึ่งมีผู้เข้าชมหลายล้านคนต่อวัน นำเสนอข่าวและมุมมองที่ตรงไปตรงมา ไม่เลือกข้าง เน้นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และยังสามารถสร้างรายได้มากว่าปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จากตัวอย่างนี้จึงเห็นได้ว่าเป็นการลงทุนที่สร้างผลต่อสังคมเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในด้านประชาธิปไตย และการต่อต้านคอร์รับชั่นในประเทศกำลังพัฒนา

บทเรียนที่สำคัญต่อภาคการเงินไทยก็คือกระบวนการที่บริษัทจัดการการลงทุนเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับธนาคารขนาดใหญ่ และสภาบันการเงินต่างๆซึ่งมีลูกค้าผู้มีสินทรัพย์จำนวนมาก และนักลงทุนสถาบัน ซึ่งต่างย่อมมีความสนใจที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับผลตอบแทนทางการเงิน การเรียนรู้ความสนใจด้านสังคมของลูกค้า การสร้างปฏิสัมพันธ์จนนำไปสู่การสร้างบริการทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละรายนั้น และยังให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนเพื่อสังคมให้กับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นสามารถไปแนะนำลูกค้าของตนเองได้ กระบวนการเหล่านี้แท้จริงก็คือการใช้ทักษะของนักการเงินสวิสฯที่สั่งสมมานาน แต่นำมาใช้ในด้านที่จะสร้างประโยชน์ต่อความยั่งยืนของโลกนั้นเอง

หากนักการเงินไทยเหลียวมองบทเรียนจากสวิสฯเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย อย่างน้อยจากมุมนวัตกรรมเพื่อสังคมจากประเทศที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น เราอาจจะพบแนวทางหนึ่งซึ่งสามารถมีส่วนสำคัญในการสร้างบทบาทของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยสู่ความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของภาคการเงินการลงทุนซึ่งมีกำลังมหาศาลนั้น หากนำเอาบทเรียนเรื่องการเงินการลงทุนเพื่อสังคมจากสวิสฯทั้่งในด้าน SRI และ Impact Investment ไปปรับใช้ ก็ย่อมจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบมากขึ้น และยังสามารถลงทุนสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยอันหลากหลายให้เกิด และขยายผลได้อย่างกว้างขวาง จนอาจจะเล่มเทียนสำคัญที่จะทำให้คนไทยเริ่มเห็นแสงที่ปลายอุโมงของวิกฤตสังคมการเมืองในครั้งนี้ก็เป็นได้

สุนิตย์ เชรษฐา ChangeFusion Institute / July 2010

One thought on “ เหลียวมองนักการเงินสวิสฯ บทเรียนการลงทุนเพื่อสังคมและโลก ”

  1. Pingback: JEREMIAH

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s