กับสมเด็จย่า

เมื่อวานเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จย่า (18 ก.ค.) ผมเชื่อว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกงานนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย  ท่านสามารถมองเรื่องการปัญหาปลูกฝิ่นยาเสพย์ติดในพื้นที่ชาวเขาซึ่งตอนนั้นรัฐก็จะเน้นการปราบปราม มาเป็นการเห็นว่าปัญหานี้มีรากมาจากปัญหาเศรษฐกิจจึงพัฒนาโครงการดอยตุงขึ้นเพื่อส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเมืองหนาวสร้างรายได้ ความมั่นคง และการจัดการตัวเองของชาวเขา และเชื่อมโยงสู่ตลาด ท่านเป็นผู้นำกาแฟอาราบิกาและพืชอื่นๆเข้าไปปลูก จนประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับโดยสหประชาชาติ กลายมาเป็นกิจการเพื่อสังคม “ดอยตุง” ภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

“ยอดดอยที่เคยหัวโล้นด้วยการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น จึงได้กลับกลายมาเป็นดอยที่เต็มไปด้วยป่าไม้ตามเดิม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงได้รับขนานนามว่า สมเด็จย่า จากชาวไทยบนพื้นราบ หรือ แม่ฟ้าหลวง จากชาวไทยภูเขา” (Wikipedia)

แนวทางการพัฒนาของท่านยังต่อยอดมาถึงผู้บริหารยุคปัจจุบันที่ทำให้ดอยตุงกลายเป็นกิจการที่สร้างโอกาสให้ชุมชนทั้งจากการขายกาแฟ แมคคาเดเมีย และสินค้าแฟชั่นสไตล์ชนเผ่า วันหนึ่งผมเชื่อว่า “ดอยตุง” จะมาสาขาไปทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ตามแนวคิด วิธีก้าวเดิน ของสมเด็จย่าผู้มีความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาความเป็นอยู่ของคนทั่วไปจากการที่ท่านก็ทรงเป็นลูกสาวช่างทอง จากความเข้าใจหัวอกและสภาพความเป็นจริงนี้ ประกอบกับการลงพื้นที่อย่างหนัก ท่านจึงสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมดังกล่าวได้ และในฐานะที่ท่านทรงเป็นพระมารดาของในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของชาวสยาม ผมมั่นใจว่าท่านย่อมวางรากฐานวิธีคิดและการแก้ปํญหาสังคมอย่างยั่งยืนให้กับในหลวง ซึ่งอาจเป็นต้นทางหนึ่งไปสู่แนวทางการพัฒนาที่เน้น “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวง

อาจถึงเวลาที่คนไทยจะระลึกถึงท่านในฐานะแรงบันดาลใจให้กับผู้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย  สมเด็จย่าได้ร่วมริเริ่มแนวทางนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่อนาคตของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ผู้คนพึ่งตนเองได้ ต่อเชื่อมกับเศรษฐกิจยุคใหม่ได้บนฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมของตน ขึ้นอยู่กับผู้คนในยุคเรา

วิกิพีเดียเรื่องสมเด็จย่า