หลายคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการได้หรือไม่ได้รางวัลที่ เกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการ  ไม่ว่าจะเป็น SME ตีแตก เถ้าแก่น้อย หรือจะเป็นรางวัลเพื่อกิจการเพื่อสังคมต่างๆ   คนที่ได้ก็ดีใจภูมิใจกันไป บางคนได้รางวัลแล้วเหลิง ตั้งตนเป็นกูรู หรือกลายเป็นพวกติดรางวัลไปก็มี  แต่คนที่ไม่ได้บางคนก็เสียใจเพราะใช้เวลาเตรียมการไปเยอะ แล้วหลายครั้งที่ไม่ได้รางวัลอย่างที่หวังไว้ก็กลายเป็นการเสียความมั่นใจ ของผู้ประกอบการบางคนไป  บางคนก็บ่น เซ็ง โกรธ เบื่อ โบ้ยตั้งแต่คนจัดรางวัล กรรมการ หรือตัวเอง  กลายเป็นชีช้ำ หรือออกแนวมองโลกในแง่ร้ายแล้วติดกัดจิกกิจกรรมในลักษณะนี้ไปก็มี

ตัวผมเองในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่งซึ่งก็ชวดรางวัลต่างๆมาอย่างต่อเนื่องเช่น กัน (เกิดมาเพิ่งเคยได้รางวัลที่เอามาทำงานได้ซัก 2 รางวัลเล็กๆเท่านั้นเอง) แต่การที่ผมทำงานในองค์กรที่เน้นร่วมลงทุนสนับสนุนผู้ประกอบการหรือจัด โปรแกรมรางวัลบ้าง  ผมก็มีสิ่งที่อยากฝากให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องรางวัลดังต่อไปนี้

  • รางวัลใดๆไม่ได้บอกว่าเรามีคุณค่าหรือไม่  แค่บอกว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร
  • อย่าสับสนระหว่างรางวัล และความสำเร็จ
  • อย่ายอมให้รางวัลต่างๆมาแย่งเวลาเราไปจนงานหลักเราหดหรือตกไป
  • พยายามขอข้อคิดเห็นของกรรมการ ว่าเราขาดตกอะไรไป แล้วมาปรับปรุง
  • ต้องคิดใช้รางวัลในเชิงรุก เอามาใช้ให้มากกว่าแค่ตัวรางวัล

1. รางวัลใดๆไม่ได้บอกว่าเรามีคุณค่าหรือไม่  แค่บอกว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร

อย่าให้คนภายนอกมาตัดสินคุณค่าของคุณ  การชนะหรือแพ้ในการประกวดใดๆไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่มีค่า หรือไม่ได้เรื่อง กรรมการเขาอาจจะไม่ได้สนใจประเด็นหรือโอกาสที่คุณนำเสนอ  คุณอาจจะนำเสนอผลงาน ไอเดีย หรือความสำเร็จได้ไม่ชัดเจนหรือน่าเชื่อถือพอ  คุณอาจจะสื่อสารไม่เก่ง พูดไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่ถูกหรือไม่ดีพอ  แต่ควรทำความเข้าใจว่าจุดอ่อนหรือสิ่งที่ทำให้กรรมการไม่สนใจงานของคุณคือ อะไร มีอะไรที่คุณจะเรียนรู้เพื่อปรับปรุงได้ไหม  การที่กรรมการเขาไม่สนใจคุณก็อาจแปลได้ว่ามันมีปัญหาอะไรบางอย่าง จะเรื่องเขาไม่สนใจประเด็นนั้นๆ การสื่อสารไม่ขัดเจนพอ หรือจะเป็นเรื่องผลของงานของคุณจริงๆ  อย่างน้อยก็ควรนำมาคิดหรือฟังเอาไว้บ้าง

2. อย่าสับสนระหว่างรางวัล และความสำเร็จ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการได้รางวัลสำคัญๆแล้วทำให้อีโก้พองโตจนมองข้าม หรือหลงลืมไปว่าความสำเร็จที่แท้จริงของเราคืออะไร จนกลายร่างเป็นนักล่ารางวัล หรือมุ่งจะทำสิ่งต่างๆให้ตรงกับเกณฑ์การให้รางวัลต่างๆจนลืมเป้าหมายหลักของ ตัวเอง  ใครจะว่าอะไรก็อ้างรางวัลต่างๆที่ได้ไปวันๆ  กว่าจะรู้ตัวก็ทำตามความต้องการของคนอื่นๆที่เป็นผู้กำหนดรางวัลจนสูญเสีย ตัวตนและจุดยืนของตัวเองไป

นอกจากนั้น ผมคิดว่าในโลกของรางวัลต่างๆนั้น นักล่ารางวัลที่ได้รางวัลนั้นนี่บ่อยๆแต่ผลงานไม่ดีจริงก็มีไม่น้อย อาจจะด้วยการพูดโม้เก่ง นำเสนอเก่ง รู้วิธีการเอาชนะใจกรรมการ  แต่หากไปเจาะจริงๆก็จะเห็นว่าอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่เห็นก็ได้ ปรากฏการณ์นี้มีอยู่เสมอในทุกวงการ คนได้รางวัลไม่ได้แปลว่าผลงานดีจริงๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ หรือตอบโจทย์ลูกค้าได้จนสำเร็จจริงๆ   จะเป็นรางวัลวงการโฆษณา หรือเป็นรางวัลผู้ประกอบการเพื่อสังคมระดับโลก ก็ยังมีกรณีแบบนี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ คนได้รางวัล หรือได้รับเชิญไปแสดงผลงาน ไปพูดในงานแบบ TED แล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรสำเร็จขึ้นจริงๆจังๆ หรือไม่นานก็พังเจ้งไปเลยก็มีให้เห็นบ่อยๆ

ดังนั้นอย่าไปคิดเปรียบเทียบมากเกินไปว่าเราไม่ได้เรื่องอย่างนั้นอย่างนี้  แน่นอนผู้ได้รางวัลที่ดีจริงๆ เยี่ยมจริงๆ ที่เราควรจะเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาตัวเองก็มีอยู่ไม่น้อยไปกว่าพวกขี้โม้หรือ จับประเด็นตรงความสนใจเช่นกัน  ผมจึงไม่ได้หมายความว่าจะไปตั้งแง่กับคนได้รางวัลเพื่อปลอบใจตัวเองหรือ ปกป้องจิตใจตัวเอง  แต่จริงๆแล้วอยากให้มองลึกลงไปใช้ชัดว่าความสำเร็จที่เราต้องการจะเห็นคือ อะไร ความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการจะสร้างขึ้น การแก้ปัญหาของโลกหรือของลูกค้าที่เราวางไว้นั้นมันจะวัดความสำเร็จอย่างไร  ตราบใดที่เรามีความชัดเจนในส่วนนี้ว่าความสำเร็จที่เราต้องการสร้างขึ้นนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร จะได้รางวัลหรือไม่ มันก็ไม่ได้สำคัญอะไร รางวัลเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยตอกย้ำความสำเร็จหรือทำให้เราขยายความสำเร็จของ เราได้ง่ายขึ้นอีกนิด มันก็แค่นั้น  คุณค่าของเราอยู่ที่ความสำเร็จที่เรากำหนดขึ้น ไม่ต้องให้คนอื่นมาบอกว่าเราได้เรื่องหรือไม่   อย่ายอมจิตตกกับเรื่องเช่นนี้

3 .อย่ายอมให้รางวัลต่างๆมาแย่งเวลาเราไปจนงานหลักเราหดหรือตกไป

บางทีการคาดหวังกับรางวัลที่สำคัญกับเราจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆผิดไปได้  ผมเคยเห็นหลายๆคนที่ใช้เวลาในการเตรียมข้อมูลเพื่อชิงรางวัลจนไม่มีเวลา ทำงานจนมีปัญหาในที่สุด จะได้หรือไม่ได้รางวัลก็กลายเป็นว่างานจริงๆกลับประสบปัญหา  ไม่ใช่แค่เพียงรางวัลเท่านั้น บางครั้งแม้แต่การเตรียมตัวเพื่อระดมทุน การที่ต้องใช้เวลามหาศาลในการเตรียมแผนธุรกิจ เก็บข้อมูล วิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนนั้น หากทำมากจนเกินพอดีก็อาจจะมีปัญหาได้ สำคัญคือเวลาเตรียมข้อมูลพวกนี้ควรคิดว่าจะเตรียมอย่างไรให้เราเอามาใช้ใน การพัฒนางานวันต่อวันของเราได้ด้วย หรือทำแผนซึ่งเราจะได้ใช้จริงๆไม่ว่าจะได้รางวัลหรือเงินทุนหรือไม่ ผมรู้จักบางกิจการที่ใช้เวลาเตรียมข้อมูลสำหรับนักลงทุนและมีความคาดหวัง อย่างมากว่าจะได้ ลงทั้งแรง ทั้งเวลา และทุนในการไปทำวิจัยการตลาดต่างๆ  แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการลงทุนในวินาทีสุดท้าย  จึงทำให้กิจการพังไปเลยก็มี เพราะกระทบงานประจำวันทำให้ผลงานมีปัญหา และยังมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตามมาอีกด้วย   จึงต้องระวังไว้บ้างนะครับ  ยิ่งคิดว่าจะได้ก็ยิ่งจะลงเวลาลงทุนมากแต่สุดท้ายไม่ได้ก็จะยิ่งเจ็บ  เหมือนการพนันที่เมื่อเสียเยอะก็มักจะต้องยิ่งเสี่ยงเพื่อจะให้ได้มาให้คุ้ม เสีย

4. พยายามขอข้อคิดเห็นของกรรมการ ว่าเราขาดตกอะไรไป แล้วมาปรับปรุง

บางทีคนจัดงานเขาก็รวบรวมความคิดเห็นกรรมการให้เรา บางทีเราอาจจะต้องขอเขา บางทีอาจจะต้องขอไปคุยกับกรรมการเป็นคนๆ ไม่ใช่ว่าจะไปจับผิดอะไรกรรมการ แต่เพื่อที่ว่าหากมีประเด็นสำคัญที่เราอ่อนอยู่จริงๆ หรือคาดไม่ถึงว่ามันจะสำคัญ เราจะได้นำมาแก้ไขปรับปรุงได้ การให้คนนอกมามองกิจการของเรานั้นเป็นประโยชน์มากๆเพราะไม่ว่าอย่างไร เจ้าของกิจการย่อมจะมีอคติจิตเอนเอียงกับธุรกิจหรืองานของตัวเองอยู่แล้ว  กรรมการบางคนเวลาเห็นเราติดต่อไปถามว่าเรามีจุดบกพร่องอะไร เขาอาจจะรู้สึกดีและอยากช่วยเราจนกลายมาเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือเราในภาย หลังก็เป็นไปได้  คนเราย่อมรู้สึกดีเวลามีคนให้คุณค่ากับความคิดเห็นของตน  อย่าปล่อยให้โอกาสดีๆเช่นนี้หลุดมือไป

5. ต้องคิดใช้รางวัลในเชิงรุก เอามาใช้ให้มากกว่าแค่ตัวรางวัล

มีหลายกิจการในโลกนี้ที่มองรางวัลต่างๆเป็นเครื่องมือ เขาไม่ได้คิดจะพึ่งพารางวัลหรืออยากได้มาเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าได้รับการ ยอมรับ หรือไม่ได้สนใจเงินรางวัลอะไร  แต่เขารู้ว่ารางวัลอะไรที่สำคัญกับการเปิดตลาดของเขา เขาอาจจะต้องการใช้รางวัลบางอย่าง เช่น ต้องการได้รางวัล design award เพื่อนำไปใช้ในการเปิดตลาดกับลูกค้าของเขา โดยเฉพาะในกรณีที่สินค้าบริการเขาเป็นนวัตกรรมที่ใหม่และยังไม่ได้รับความ เชื่อถือนัก รางวัลเหล่านี้จะช่วยได้มาก  หรือบางกิจการอาจต้องการใช้รางวัลในการสร้าง connection และเครือข่ายให้ตัวเองสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่จะมาสนับสนุนเขาในระยะกลางถึง ยาวได้  บางรางวัลอาจจะไม่ได้ให้เงินเยอะแต่สร้างความน่าเชื่อถือและเปิดเครือข่าย สำคัญได้เช่น Ashoka หรือบางรางวัลก็ไม่ได้ให้เงินเลยด้วยซ้ำแต่จะทำให้เข้าถึง connection ของบางวงการที่เฉพาะกับความต้องการของกิจการนั้นๆได้

ดังนั้นในฐานผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและมองรางวัลต่างๆในฐานะเครื่องมือ เพื่อการพัฒนากิจการของตนในเชิงรุก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมพร้อมเตรียมการระยะยาวเพื่อ ให้ได้มาซึ่งรางวัลเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นการเร่งเขียนข้อมูลส่งเข้าชิงรางวัลซึ่งก็ย่อมไม่ได้ต่างอะไรกับ การชิงโชคกับเสี่ยตันเหมือนชาวบ้านทั่วๆไป ผมรู้จักผู้ประกอบการหลายหลายที่พุ่งเป้าว่าต้องได้รางวัลเช่น Red Dot Design Award หรือ Skoll Award เพื่อเป้าหมายบางอย่างในอนาคต พวกเขาทำงานหนักในการใช้เกณฑ์ต่างๆของรางวัลเหล่านั้นมาประกอบอยู่ในแผน ดำเนินการของเขาแต่เนิ่นๆโดยไม่ได้แค่ทำเพื่อให้ได้รางวัล แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความยอมรับและความเติบโตแบบก้าวกระโดดโดย ใช้รางวัลต่างๆเป็นเครื่องมือ  ซึ่งไม่ว่าเขาจะได้รางวัลหรือไม่ การเตรียมตัวให้ได้มาตรฐานระดับประเทศหรือระดับโลกก็ย่อมสร้างความแข็งเกร่ง ให้กับกิจการนั้นๆ    นอกจากนั้นอย่าลืมว่าแม้คุณอาจจะไม่ได้รางวัลเป็นเงินหรือได้ที่ 1,2,3 แต่แม้การเข้ารอบสุดท้าย  (หรือรอบอื่นๆ) ก็สามารถเอามาใช้สื่อสารหรือสร้าง connection เพื่อรุกเข้าสู่เป้าหมายธุรกิจของคุณได้แล้ว   บางคนถึงขนาดลงทุนจัดกระบวนการให้รางวัลขึ้นมาเองซึ่งแม้แต่คนอื่นจะได้ รางวัลแต่เขาจะกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายที่สำคัญสำหรับกิจการของเขาได้

สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ จะได้หรือไม่ได้รางวัลอะไร แต่อย่างน้อยก็อยากให้รู้ไว้ว่าประเทศใดไม่มีผู้ประกอบการ (Entrepreneur คือผู้เห็นโอกาสและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ยกระดับเศรษญกิจสังคมขึ้น ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าซื้อมาขายไป) ประเทศนั้นไม่มีวันเจริญ ไม่มีวันเกิดอะไรใหม่ๆไม่ว่าจะในมิติเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การเมือง

ดังนั้นประเทศชาติและโลกนี้ต้องการคนอย่างคุณครับ คุณผู้ประกอบการทั้งหลาย !!!

สุนิตย์ เชรษฐา 30.4.14