1. ศิลปะยุคใหม่และความคับแคบในการตีความทางจิตวิทยา
คงมีใครอีกหลายคนในที่นี้ที่ชมงานศิลปะสมัยใหม่บางชิ้นแล้วต้องส่ายหัวด้วยความงุนงง เพราะไม่เข้าใจว่า ผลงานเหล่านั้นต้องการจะสื่อสารหรือนำเสนออะไร เช่นเดียวกับการเสพวรรณกรรมของเจมส์ จอยซ์ หรือดนตรีคลาสสิคของอาร์โนลด์ เชินแบร์ก โดยปราศจากคู่มือ/ความรู้ชี้นำ การจะค้นหาสุนทรียะ/อรรถรสที่ซ่อนตัวอยู่ภายในหลืบเร้นของผลงานเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ หรือเมื่อเราเปรียบเทียบผลงานล้ำยุคจำนวนมากจากศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษก่อนหน้าก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า ภาพรวมของศิลปะในศตวรรษที่ 20 นั้นมีแนวโน้มของความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบและมีลักษณะขาดตอนเป็นส่วนเสี้ยวมากขึ้นทุกทีๆ
กุญแจดอกหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าถึง หรือสามารถไขเข้าไป ‘อ่าน’ ผลงานเหล่านี้ได้ก็คือ ‘จิตวิทยา’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีมาเนิ่นนานแล้วในโลกตะวันตก (คือนับเนื่องจาก De Anima ของอริสโตเติลเป็นต้นมา) และการตีความศิลปะด้วยจิตวิทยาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว หากแต่วิธีการดังกล่าวเริ่มเป็นที่นิยม หรือมีบทบาทความสำคัญขึ้นมาก็เมื่อนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ซิกมุนด์ ฟรอยด์ได้นำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขาไปถอดรหัสผลงานของมนุษย์อัจฉริยะ ลีโอนาร์โด ดา วินชี
ฟรอยด์ตีความศิลปะของดา วินชีว่าเป็นผลมาจากความเก็บกดปิดกั้นในระดับจิตใต้สำนึก สืบเนื่องมาจากการที่เขากำพร้าพ่อและได้รับความดูแลเอาใจใส่จากแม่เพียงฝ่ายเดียว ปมขาดบิดานี้เองผลักดันให้ดา วินชีกลายเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะของเขา ฟรอยด์ยังได้กล่าวอีกด้วยว่าการที่ดา วินชีละทิ้งงาน (ซึ่งยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น) เพื่อหันไปเริ่มต้นทำงานชิ้นใหม่ๆ มาจาก ‘ความไม่พึงใจ’ ที่เกิดจากความขัดแย้งไม่ลงรอยในเรื่องที่เขาชอบผู้ชาย{1}
หากศิลปะคือผลงานที่มาจากจิตใจ ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งในเชิงมิติความลึกและความซับซ้อนอย่างหาที่สุดมิได้แล้วไซร้ การทำความเข้าใจโดยอาศัยหลักจิตวิเคราะห์ดังเช่นที่ฟรอยด์กระทำนั้นก็ย่อมจะคับแคบและตื้นเขินเกินไป โดยเฉพาะการลดทอนนัยยะของศิลปะลงให้เหลือเพียงแค่เรื่องของความต้องการเชิงอำนาจ แรงขับดันทางเพศ ฯลฯ
นักจิตวิตยาชาวสวิส คาร์ล ยุง ศิษย์คนสำคัญของฟรอยด์กล่าวว่า แม้การใช้จิตวิทยาศึกษาศิลปินจะมีคุณูปการต่อการทำความเข้าใจงานศิลปะในหลายแง่มุม แต่ถึงกระนั้นเราย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความรู้ทางด้านจิตวิทยาไม่สามารถอ่าน หรือไขความลับของงานศิลปะได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ {2}กล่าวคือมีงานศิลปะอีกเป็นจำนวนมากในโลกนี้ โดยเฉพาะผลงานชิ้นเอกที่มีที่มา ความหมาย และหน้าที่กว้างเกินกว่าที่เราจะนำเอาเหตุการณ์ในช่วงชีวิต หรือผลกระทบต่อจิตใจของศิลปินผู้สร้างไปเป็นแบบแผนในการอธิบาย เนื่องจากศิลปะคือผลงานสร้างสรรค์ของจิตใจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถลดทอนแยกส่วนได้ ซึ่งว่ากันว่าแม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจจุบันก็ยังไม่อาจเข้าถึงมิติต่างๆ ของจิตใจได้ทั้งหมด ความลึกลับแห่งจิตจึงยังคงดำรงอยู่และรอคอยการค้นพบ เฉกเช่นศิลปะซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์จากจิตใจของมนุษย์
2. เซอร์เรียลิสม์และการเข้าสู่ยุคศิลปะแแห่งจิตไร้สำนึก
ขบวนการสำคัญที่เปิดทางให้ศิลปะสมัยใหม่ขบวนการหนึ่งคือ เซอร์เรียลิสม์ (surrealism) ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ในช่วงเวลานั้นเอง นักเขียน-ศิลปินที่เข้าร่วมขบวนการต่างก็เชื่อว่าสงครามโลก และความเลวร้ายทั้งหลายอันเป็นผลพวงของสงครามนั้นเกิดมาจากจิตใจที่คับแคบของมนุษย์ ที่ต่างก็ใช้เหตุผลและตรรกะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสนองความต้องการในการประหัสประหารกันเอง
อ็องเดร เบรอตง (André Breton) เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มเซอร์เรียลิสม์อย่างเป็นกิจลักษณะคนแรก เขาผู้นี้เคยเป็นนักเรียนแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของฟรอยด์ ที่เซอร์เรียลิสต์ต่างก็เห็นว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกของฟรอยด์มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์
เบรอตงและพรรคพวกได้นำเอาวิธีการเชื่อมโยงเสรี (free association) ของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้กับศิลปะ โดยให้ศิลปินวาดรูป หรือเขียนสิ่งที่ลอยเข้ามาในความคิดโดยไม่ต้องสนใจเหตุผลตรรกะใดๆ งานศิลปะของเซอร์เรียลิสม์จึงเป็นทั้งเนื้อหาและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผุดบังเกิดจากจิตไร้สำนึก (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการสร้างสรรค์จากโลกภายในของศิลปิน และโลกที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของโลกกายภาพ)
เซอร์เรียลิสต์แต่ละคนอาจมีแนวทางในการนำเสนอแตกต่างไปบ้างตามแต่ความเคร่งครัดในหลักการ หากโดยแก่นแล้วมักจะยอมรับในการหยิบใช้เรื่องราวในความฝัน การเขียน หรือวาดโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการแสดงออกของจิตไร้สำนึก
เอกลักษณ์อีกอยางหนึ่งของศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ก็คือการใช้สิ่งที่เรียกว่า ความบังเอิญ (chance) มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงาน โดยเฉพาะการหยิบเอาสิ่งของสองอย่าง (หรือมากกว่านั้น) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องมาวางไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นการพบกันโดยบังเอิญ ที่บันดาลให้เกิดความหมาย อารมณ์ความรู้สึกแปลกใหม่ เช่นการนำเอาหูกทอผ้า และร่มมาวางไว้บนเตียงผ่าตัด ซึ่งแม้แต่ละอย่างจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย แต่เมื่อมาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน ก็ย่อมจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการและความรู้สึกถึงเอกภาพแบบใหม่ ซึ่งไม่ขึ้นกับเหตุผลหรือตรรกะใดๆ ในโลกกายภาพ
นอกจากนั้น เซอร์เรียลิสม์ยังให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความบังเอิญทั้งหลายที่เราพบในชีวิตประจำวัน เหมือนว่าแท้จริงแล้ว มันมีความจริงที่ลึกซึ้งกว่าซ่อนอยู่ในนั้น
เซอร์เรียลิสต์ชาวสเปน โฆอัน มีโร (Joan Miro) มักจะเก็บสิ่งต่างๆ จากหาดทราย ค้นหาบุคลิกภาพอันพิเศษของสิ่งของเหล่านั้น แล้วจึงสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่ดูเหมือนอยู่ในความฝัน
มักซ์ แอร์นสท์ (Max Enrst) เซอร์เรียลิสต์ชาวเยอรมัน เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้วิธีการคล้ายคลึงกับมีโร เขาพยายามใช้งานศิลปะเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ที่ดูไม่เกี่ยวข้อง หากแต่ผูกผันกันด้วยความบังเอิญคล้องจอง แอร์นสท์พยายามซึมซับรับรู้ และแสดงให้ผู้ชมมองเห็นโลกวิญญาณภายในวัตถุสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น
ศิลปะของเซอร์เรียลิสม์โดยส่วนใหญ่จึงมักจะชี้ให้เห็นถึงพลังวัตรที่ขับเคลื่อนไหวเวียนอยู่ในสรรพสิ่ง เป็นความเชื่อมโยงเกี่ยวแก่กันระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในที่ไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเซอร์เรียลิสม์เชื่อว่า ภายใต้การหลอมรวมของโลกทั้งสองด้าน ความจริงที่ซ่อนอยู่จะถูกเปิดเผยออกมา
ที่จริงแล้ว การค้นพบว่าวัตถุสิ่งของมีวิญญาณ หรือความลับบางอย่างซ่อนอยู่นั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว เช่น ความเชื่อในศาสนาฮินดู ชินโต คริสตศาสนา นิกายสรรพเทวนิยม ความเชื่อของชนพื้นเมืองในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก หรือโดยเฉพาะในศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นการฉายภาพของจิตไร้สำนึกของคนลงไปยังวัตถุธาตุ (ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ฯลฯ) ซึ่งนักเล่นแร่แปรธาตุเชื่อว่า เป็นตัวแทนของวิญญาณในระดับต่างๆ ซึ่งสามารถหลอมรวมกันกลายเป็นทอง อันเป็นธาตุที่แสดงถึงวิญญาณบริสุทธิ์
3. จิตวิทยาแห่งจิตไร้สำนึกในศิลปะยุคใหม่
ศิลปินนั้นเป็นเครื่องมือแห่งยุคสมัยของพวกเขา ซึ่งก็ทำให้จิตวิทยาที่อ้างอิงกับชีวิตส่วนตัวของศิลปินอธิบายงานศิลปะได้เพียงส่วนเดียว ในบทนี้เราจะได้กล่าวถึงลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตไร้สำนึก’ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตไร้สำนึกกับศิลปิน
ในมุมมองของคาร์ล ยุง จิตไร้สำนึกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายหรือสิ่งที่ดีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่มันมีหน้าที่ในการสร้างสมดุลให้แก่จิตสำนึก เมื่อจิตสำนึกเอนเอียงไปด้านใดมากจนเกินไป จิตไร้สำนึกก็จะทำหน้าที่ทดแทนอีกด้านเพื่อทดแทนถ่วงดุล
‘จิตสำนึก’ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ คอยรับฟังสัญญาณเตือนจากจิตไร้สำนึก และค่อยๆ หลอมรวมส่วนต่างๆ ของจิตไร้สำนึกเข้ามาไว้ในจิตสำนึก เพื่อขยายพัฒนาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเราเชื่อมโยงแนวคิดที่ว่า ศิลปินย่อมเป็นเครื่องมือแห่งยุคสมัยเข้ากับหน้าที่ของจิตไร้สำนึก เราก็จะเริ่มเห็นว่าศิลปะยุคใหม่ โดยเฉพาะเซอร์เรียลิสม์นั้นคือการผละหนีไปจากโลกของเหตุผลที่บูชาวิทยาศาสตร์และความมั่งคั่งทางวัตถุ นี่เป็นเหตุผลให้ศิลปะร่วมสมัยในยุคเดียวกับเซอร์เรียลิสม์ดูไร้เหตุผล หรือมุ่งเน้นที่จะแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมและกราดเกรี้ยวรุนแรงมากขึ้น
นอกจากการถ่วงดุลแล้ว จิตไร้สำนึกยังทำหน้าที่สะท้อนพัฒนาการของจิตสำนึกที่เชื่อมโยงกับโลกกายภาพ คือยิ่งโลกกายภาพเกิดความหวาดหวั่น เกิดความแตกแยก หรือเกิดความสับสนมากขึ้นเท่าไร จิตไร้สำนึกก็ย่อมยิ่งแสดงออกผ่านศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์ ซับซ้อน และไร้ระเบียบมากขึ้นเท่านั้น
ปอล เกลฺ (Paul Klee) จิตรกรชาวสวิส ผู้มีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับขบวนการเซอร์เรียลิสม์กล่าวว่า “ยิ่งโลกน่าหวาดกลัวขึ้นเท่าใด… ศิลปะก็ย่อมจะกลายเป็นนามธรรมมากขึ้นเท่านั้น และในขณะที่โลกสงบสุข ศิลปะจะดูเสมือนจริง{3}” กล่าวคือยิ่งเมื่อโลกเราเข้าสู่สภาวะยุ่งเหยิงมากเท่าใด ศิลปะก็จะหันหลังให้โลกภายนอกและจมดิ่งสู่โลกภายในมากขึ้นเรื่อยๆ
การหันหลังให้โลกกายภาพเพื่อกระโจนเข้าไปในโลกแห่งจิตไร้สำนึกของเซอร์เรียลิสม์นั้น แม้จะสร้างสรรค์ความแปลกใหม่และหยิบยื่นประสบการณ์อันเป็นคุณูปการอย่างมากมาย แต่กระนั้นวิธีการดังกล่าวก็เต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งยวด เพราะโดยพื้นฐานแล้ว จิตไร้สำนึกประกอบขึ้นจากปม (complexes) และต้นแบบทางจิต{4} (archetypes) จำนวนมากซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลังอันมหาศาลที่สามารถจะถ่าโถมท่วมทับศิลปินผู้ที่ไม่พร้อม หรือยังไม่ถึงแก่เวลาที่จะเปิดตัวเองสู่โลกแห่งจิตไร้สำนึก
อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงยากต่อความควบคุมและอาการผิดปกติทางจิตในรูปแบบต่างๆ นั้นล้วนมีที่มาจากพลังของจิตไร้สำนึกทั้งสิ้น การปลดปล่อยพลังเหล่านี้เข้าสู่จิตสำนึกในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอาจจะรุนแรงเกินกว่าศิลปินบางคนจะรับได้ และส่งผลในเชิงทำลายล้าง (กรณีนี้คล้ายๆ กับตอนที่กลุ่มเซอร์เรียลิสม์ทดลองโดยการให้โรแบรต์ เดสโนส พูดออกมาในตอนที่อยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งปรากฏว่า เดสโนสลุกขึ้น แล้วคว้าเอามีดวิ่งไล่แทง ปอล เอลูอารด์ กวีที่เดสโนสเกลียดชังอยู่ลึกๆ)
ดังนั้นแม้ศิลปินจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แลดูมหัศจรรย์มากสักเพียงใด แต่ปัญหาทางจิตที่เกิดติดตามมา อาจจะทำให้ศิลปินผู้นั้นต้องมีชีวิตที่ทนทุกข์ทรมานและหลายกรณีก็จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้นแนวทางเซอร์เรียลิสม์ที่มุ่งจะลดทอนความสำคัญของจิตสำนึก เหตุผล และเปิดรับเฉพาะสัญลักษณ์ต่าง ๆ จากจิตไร้สำนึกนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูง ที่จิตไร้สำนึกจะกลืนจิตสำนึกไปโดยสมบูรณ์ การณ์เช่นนี้ย่อมจะนำไปสู่ทุกขภาวะทางจิต หรือเสี่ยงต่อการเกิดความเจ็บป่วยทางใจ โดยเฉพาะโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า หรือมีบุคลิกแปลกแยก ซึ่งศิลปิน-นักเขียนหลายๆ คนที่อยู่ในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ อาทิเช่น อ็องโตแน็ง อาร์โตด์, เรอเน่ เคลฺอแว็ล หรือปอล ริโกต์ต่างก็โดนคุกคามด้วยอาการเจ็บป่วยดังกล่าวด้วยกันแทบทั้งสิ้น
คาร์ล ยุงได้แบ่งสภาวะการสร้างสรรค์งานศิลปะออกเป็นสองแนวทางกว้างๆ คือ สภาวะเชิงจิตวิทยาส่วนบุคคล (psychological mode) และสภาวะเชิงนิมิต (visionary mode)
สภาวะสร้างสรรค์เชิงจิตวิทยาส่วนบุคคลนั้นคือ สภาวะสร้างสรรค์โดยที่เกิดจากประสบการณ์และเนื้อหาของจิตสำนึกเป็นหลัก เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะในลักษณะดั้งเดิมที่ใช้ความคิด เหตุผล กฎเกณฑ์ และหลักการต่างๆ ทางศิลปะเพื่อนำอารมณ์ ความรู้สึก และสัญลักษณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน และโลกกายภาพมาทำให้กลายเป็นศิลปะ หากจะมีส่วนใดที่เกิดจากอิทธิพลของจิตไร้สำนึกนั้นก็จะสามารถเห็นได้ชัดว่า เป็นจิตไร้สำนึกในระดับส่วนตัว คือเป็นความเก็บกด ความหลงไหล ฯลฯ ที่แม้ศิลปินเองจะไม่ได้รับรู้ หรือแสดงออก แต่เราก็สามารถจะวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนว่า เนื้อหาของงานศิลปะนั้นๆ เกิดมาจากประสบการณ์ส่วนใดในชีวิตของศิลปิน
สภาวะการสร้างสรรค์เชิงนิมิตแตกต่างจากสภาวะแรกอย่างเห็นได้ชัด ตรงที่งานศิลปะจากสภาวะอันนี้จะเต็มไปด้วยพลังทางสัญลักษณ์ และมีรูปแบบที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกอย่างน่าแปลกประหลาด หรือเป็นงานที่เมื่อชมแล้วชวนให้พิศวงงงงวยว่ามันที่มาอย่างไร เนื้อหาของงานประเภทหลังนี้มักจะวางอยู่ระหว่างขั้วของความดีและความเลว แสงสว่างและความมืด ความสวยงามที่คั่นกลางความละเมียดละไมและความดิบเถื่อน หรือเป็นงานก้าวข้ามความเป็นเหตุผล หรือไม่ได้มีเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน/ประสบการณ์ทั่วๆ ไปของศิลปิน และดูราวกับว่า งานชิ้นนั้นผุดบังเกิดมาจากพลังอันลึกลับผ่านมือศิลปิน ซึ่งยุงเรียกพลังดังกล่าวนี้ว่า จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย (Zeit Geist-Spirit of the Age)
จิตวิญญาณในความหมายนี้ย่อมมิได้หมายถึง ‘ผี’ในความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่หมายถึงสภาวะจิตที่ผู้คนในแต่ละยุคสมัยมีร่วมกัน ในหลายครั้ง เรามักจะได้ยินศิลปินหลายคนพูดว่า งานของพวกเขาเกิดขึ้นจากบางอย่างที่อยู่เหนือจิตสำนึกและตัวตนของพวกเขา หรือกระทั่งพวกเขาเหมือนเป็นร่างทรงของบางสิ่งที่เปี่ยมไปด้วยพลังอันสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เรากล่าวได้ว่า ภายใต้สภาวะการสร้างสรรค์เชิงนิมิตร เราไม่สามารถเข้าใจว่างานชิ้นนั้นประกอบไปด้วยเนื้อหาอะไรและมีความหมายอย่างไร หากเรามองจากมุมของประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินแต่เพียงอย่างเดียว และหากเราดึงดันที่จะใช้วิธีการดังกล่าว เราก็จะเบี่ยงเบนหันเหไปจากความหมายที่แท้จริงของงานชิ้นนั้นๆ ซึ่งมีต่อยุคสมัยและมนุษยชาติ เช่นการอ่านความหมายของงานศิลปะของดา วินชีว่าเป็นเพียงแต่ความเก็บกดทางเพศเท่านั้น
4. บทบาทสามขั้นของศิลปะต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม
อีริค ฟอน นูมันน์ (Erich Von Neumann) นักจิตวิทยาในสายของคาร์ล ยุง คือผู้สร้างทฤษฏีพัฒนาการสามขั้นของศิลปะอันมีบทบาทต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่มีนัยสำคัญต่อยุคสมัย โดยกล่าวว่าวัฒนธรรมนั้นเกิดจากความคิด ความเชื่อ ความสนใจ การให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกร่วมและเนื้อหา ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของจิตสำนึกในยุคนั้นๆ กล่าวคือ วัฒนธรรมคือจิตสำนึกร่วม (collective consciousness) นั่นเอง
นูมันน์ยังเห็นด้วยกับคาร์ล ยุงอีกด้วยว่า นอกเหนือจากจิตสำนึกร่วมแล้ว แต่ละยุคแต่ละสมัยยังมีสิ่งที่เรียกว่า จิตไร้สำนึกร่วม (collective unconsciousness) ซึ่งประกอบด้วยต้นแบบทางจิต ที่เป็นดั่งสัญชาตญาณที่ทุกๆ คนมีร่วมกัน จิตไร้สำนึกร่วมเป็นที่มาของพลังความสร้างสรรค์ และอารมณ์ความรู้สึกซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลทั่วไป และในแต่ละยุคนั้น ก็จะมีรูปแบบทางจิตบางส่วนที่เชื่อมโยง สะท้อน ส่งทอดไปสู่วัฒนธรรมในแต่ละสมัย
เช่น รูปแบบทางจิตแห่งแม่ (mother archetype) ซึ่งแสดงออกผ่านความเลื่อมใสในพระแม่มารีและงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ที่มีเธอเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาในยุคกลาง หรือรูปแบบทางจิตแห่งโลก (earth archetype) ซึ่งทำให้ผู้คนมาสนใจความสวยงาม ยิ่งใหญ่ และรุ่มรวยของโลกกายภาพ ซึ่งนำไปสู่รูปแบบศิลปะที่เน้นความเสมือนจริงในยุคพื้นฟูศิลปวิทยา ยุคคลาสสิค และช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 เราจะเห็นได้ว่า จิตไร้สำนึกร่วมนั้นมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในรูปของจิตสำนึกร่วมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ซึ่งนูมันน์ได้แบ่งพัฒนาการดังกล่าวออกเป็นสามขั้น
ขั้นแรก ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย นี่เป็นช่วงเวลาที่ศิลปินส่วนใหญ่ต่างก็สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามความคิดความเชื่ออันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในห้วงเวลานั้นๆ ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดรูปแบบทางศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปในแต่ละยุค หากแต่ยิ่งศิลปินทำศิลปะที่เชื่อมโยงสร้างสรรค์บนความนิยมแห่งยุคสมัยมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเป็นการสร้างกำแพง หรือเปลือก (wall& shell) ห่อหุ้มวัฒนธรรมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเปลือกหุ้มเหล่านี้ทำให้ผู้คนในยุคต่างๆ เกิดความคุ้นชิน และความนิยมชมชอบในรูปแบบทางศิลปะ และความคิดต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตามยุค จนไม่สามารถมองเห็นข้อเสีย หรือข้อด้อยของเนื้อหาวัฒนธรรม (ที่มักไม่สามารถไล่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือไม่สามารถนำเอารูปแบบใหม่ๆ มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมได้) ซึ่งก็มักจะนำไปสู่ความเอนเอียงทางด้านวัฒนธรรมอย่างสุดโต่ง หรือเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกที่สามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างความหมายใหม่ให้แก่ผู้คน และสังคมได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้นำไปสู่พัฒนาการทางศิลปะขั้นต่อไป
ขั้นที่สอง ศิลปะมีหน้าที่ทดแทนความตื้นเขิน หรือความสุดโต่งของวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า จิตไร้สำนึกนั้นมีหน้าที่ในการทดแทน (compensate) บางด้านของจิตสำนึกที่เอนเอียง หรือสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ผ่านการแสดงทางสัญลักษณ์และอารมณ์ความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความฝัน การสร้างสรรค์ผ่านผลงานศิลปะ ที่เต็มไปด้วยความหมาย และเป็นคำตอบของยุคสมัย แต่หากเรา/สังคมไม่สามารถรับรู้สัญญาณที่ส่งมาจากจิตไร้สำนึก หรือไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดดุลยภาพแล้ว มันก็จะนำไปสู่ปัญหาความผิดปกติทางจิต เช่น การหันไปหาไสยศาสตร์ ความเชื่องมงายในสัญลักษณ์บางอย่าง หรือแม้แต่ความโกรธเกลียดที่ไร้เหตุผล อาทิเช่น การเหยียดผิว เหยียดชนชาติ เหยียดศาสนา เหยียดสถานะทางสังคมที่สามารถนำไปสู่การนองเลือด หรือแม้แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ได้
ด้วยเหตุนี้ เซอเรียลิสม์ จึงถือได้ว่าเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ดึงมวลมนุษย์กลับสู่สมดุลแห่งโลกนามธรรม โลกที่ให้คุณค่ากับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากเหตุผลและวิทยาศาสตร์ อันเป็นพัฒนาของจิตสำนึกร่วมที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบตัวตนในอีกด้านหนึ่งของพวกเขา การใช้จิตไร้สำนึกของเซอร์เรียลิสต์จึงถือเป็นจุดหักเหสำคัญทางประวัติศาสตร์ความคิดที่ไม่อาจมองข้ามได้
ขั้นที่สาม ศิลปะที่ก้าวพ้นห้วงเวลา (Art in timelessness) เป็นระยะของศิลปะที่นอกจากสามารถทดแทนด้านที่ขาดของวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยได้แล้ว ยังสามารถแสดงถึงสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าต่อพัฒนาการทางจิตของมนุษย์ หรือสะท้อนถึงสัญลักษณ์และความหมายที่ไม่ขึ้นกับยุคสมัย
กล่าวคือเป็นศิลปะที่มีความเป็นอมตะ และสามารถแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่สำคัญต่อพัฒนาการทางจิตและสังคมได้ ไม่ว่าผู้ชมจะอยู่ในยุคใด ผลงานเหล่านี้รอวันที่จะให้มนุษย์แต่ละคนค้นพบความหมายและพลังของมันด้วยตัวเอง ศิลปะในขั้นนี้มีปราฏอยู่ในทุกแขนง อาทิเช่น ภาพเขียนของเรมบรันด์ งานประพันธ์เรื่อง Faust ของเกอเธ่ ฯลฯ
คำถามก็คืองานในแนวเซอเรียลิสม์ชิ้นใดที่พอจะเข้าข่ายศิลปะที่ก้าวพ้นห้วงเวลา? ผลงานที่พอจะเข้าข่ายศิลปะที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลานั้นก็อาจจะเป็นภาพ The Treachery of Images ของมากริตต์ Persistence of Memory ของดาลี หรือ Guernica ของปีกัสโซ่ (ถึงแม้ปีกัสโซ่จะมีงานหลากแนวนอกเหนือจากเซอร์เรียลิสต์ แต่อ็องเดร เบรอตงเห็นว่า ผลงานของเขานั้นให้แรงบันดาลใจแก่เซอร์เรียลิสม์อย่างมาก)
Guernica เป็นภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสงครามกลางเมืองของสเปนที่เมืองแกร์นิก้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แกร์นิก้าเป็นเมืองที่กองทัพเผด็จการสเปนทิ้งระเบิดทำลายล้างฝ่ายต่อต้านเผด็จการโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้หญิงและเด็ก ภาพวาดดังกล่าวนอกจากจะปลุกเร้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงต่อสงครามแล้ว ยังซ่อนแทรกสัญลักษณ์ และรหัสหมายต่างๆ ที่มีมาแต่โบราณ
ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของกระทิงซึ่งแสดงถึงพลังความรุนแรงที่ไม่อาจต้านทานได้ แสงไฟจากหลอดไฟฟ้าที่แสดงถึงความล้ำสมัยแห่งเทคโนโลยีและอาวุธสงครมอันเป็นสิ่งเทียมไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แสงเทียนที่แสดงถึงความดีและความหวังที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ ดาวห้าแฉก ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือไปจากสัญลักษณ์ที่กล่าวมาแล้ว ภาพ Guernica ยังส่งผลต่อจิตใจของผู้ที่ได้จ้องมองอย่างตั้งใจและปลดปล่อยให้จิตไร้สำนึกของตนได้สื่อสารกับสัญลักษณ์และเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นด้วยพลังของจิตไร้สำนึกร่วม ซึ่งไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยปีข้างหน้า ภาพดังกล่าวนี้ย่อมจะยังคงเป็นที่เข้าใจ หรือสามารถกระตุ้นเร้าเพื่อให้บทเรียนที่สำคัญแก่มนุษย์ได้เรื่อยๆ ไป
พัฒนาการทั้งสามขั้น ตั้งแต่ศิลปะที่เป็นการแสดงออกของวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยไปสู่ศิลปะในฐานะการทดแทนด้านมืดบอดทางวัฒนธรรม และศิลปะที่ก้าวพ้นห่วงเวลานั้น ล้วนแต่เป็นพัฒนาการของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและจิตไร้สำนึกร่วม โดยมีจิตวิญญาณของศิลปินเป็นสื่อกลาง พัฒนาการดังกล่าวคือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงให้สังคมโดยรวมได้เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนทัศนะของตนเอง เพื่อผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ซึ่งสามารถผันแปรไปตามวิวัฒนาการของมนุษยชาติ
สังคม หรือชนชาติใดที่ไม่รับ หรือปฏิเสธสัญญาณ และการตอบรับจากโลกของศิลปะนั้นย่อมนำไปสู่วัฒนธรรมที่แก่ตัวลง เปลี่ยนแปลงยาก ยึดมั่นในจารีตประเพณีจนสุดโต่ง และตายลงโดยไร้การสืบสาน ซึ่งแน่นอนความตายของวัฒนธรรมนั้นย่อมนำไปสู่วิกฤติและความรุนแรงที่จะเกิดแก่สังคมนั้นๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานในการเยียวยาเพื่อให้เกิดเอกภาพและความสมดุลบนความแตกต่างอีกครั้ง
5. ภิกษุสันดานกา สัญญาณเตือนจากซอกหลืบแห่งสังคมสยาม
ประเทศไทยมีบริบทด้านการเข้าถึงศิลปะบริสุทธิ์ที่แตกต่างจากสังคมตะวันตกมาก หลายคนยังคงเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมาในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและจิตไร้สำนึกนั้น อาจจะใช้ไม่ได้กับสังคมไทย เพราะศิลปะที่ผู้คนไทยเข้าถึงส่วนใหญ่ยังสะท้อนลักษณะศิลปะเหมือนจริง คือเป็นรูปเป็นร่าง ดูรู้เรื่อง ฟังเข้าใจ อ่านรู้เรื่อง ซึ่งหากใช้กรอบการวิเคราะห์สถานะทางจิต (หรือแนวคิดของปอล เกลฺ) ย่อมจะแสดงว่า สังคมไทยไม่ได้เผชิญกับความแตกแยกทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยไม่ได้ตื้นเขิน หรือมืดบอด และจิตไร้สำนึกไม่มีผลต่อการแสดงออกทางศิลปะของสังคมไทย ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นความจริง
สำหรับผู้ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวว่าแท้จริงแล้วพัฒนาการทางศิลปะของไทยในยุคหลัง ซึ่งเป็นไปในทางที่ออกจากความจริงในโลกกายภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงผ่านสื่อกระแสหลัก หรือกิจกรรมทางสังคมทั่วๆไป หากแต่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสังคมที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ขับเคลื่อนด้วยความประนีประนอมระหว่างทุนนิยมและระบอบวัฒนธรรมจารีตอันเคร่งครัด
ในโลกตะวันตกประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสัญญานบอกความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากจิตไร้สำนึกผ่านงานศิลปะที่ผลัดเปลี่ยนกันแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ทั่วไป หรือแม้แต่สื่อกระแสหลักก็ยังมีช่องทางการนำเสนอศิลปะเหล่านี้อยู่บ้างอย่างต่อเนื่อง
แต่ประเทศไทยนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางเหล่านี้ คือมีเพียงหอศิลป์ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง และแกลเลอรี่ที่มีจำนวนน้อยและเข้าถึงยากเท่านั้น ประกอบกับสื่อกระแสหลักที่โหมกระหน่ำล้างสมองคนไทยให้ชื่นชมกับศิลปะเชิงพาณิชย์ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นวัฒนธรรมไทยจารีตประเพณีไปเลย กล่าวคือบทบาทของศิลปะในบ้านเรายังไม่มีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับโลกตะวันตกหรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมหรือจิตสำนึกร่วมที่ไร้รากฐาน ไร้ความต่อเนื่องระหว่างศิลปะไทยแบบดั้งเดิมและศิลปะสมัยใหม่ สังคมไทยจึงไม่มีกลไกที่จะรับสัญญาณเตือนทางวัฒนธรรมจากจิตไร้สำนึก และทุกครั้งที่สัญญาณเตือนนั้นหลุดออกมาสู่วัฒนธรรมกระแสหลักก็มักจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงโดยพันธมิตรแห่งสื่อทุนนิยมและระบอบจารีต
กรณีที่เห็นชัดเจนที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือ ภิกษุสันดานกา ภาพวาดสีอครีลิกบนจีวร ของ อนุพงษ์ จันทร ผลงานซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 53 ประจำปี พ.ศ. 2550
ภิกษุสันดานกา เป็นภาพของพระภิกษุที่มีปากเป็นกาสองรูป ซึ่งกำลังแย่งของในบาตร ภาพที่มีกลิ่นอายของเซอร์เรียลิสม์ชิ้นนี้เชื้อชวนให้ผู้ชมตีความได้หลากหลาย หรือกระทั่งพูดได้ว่า ‘ภาพ’ ได้ ‘พูด’ ในสิ่งที่ศิลปินไม่ได้ ‘บอกบท’ อาทิเช่น การสื่อแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ (sacred) และความสามานย์ (profain) ที่อยู่ควบคู่กันในสังคมพุทธ (ตุ๊กตาปั้น, ลูกประคำในย่าม, รอยสักกฤตยาคม ซึ่งผลงานทั้งหมดรองรับด้วยผ้าจีวร) หรือหากไม่มองว่าเป็นการวิจารณ์เสียดสีพฤติกรรมของสงฆ์แล้วก็คงต้องนับว่า เป็นภาพซึ่งสะท้อนถึงความใจกว้างอย่างยิ่งของพุทธศาสนาที่รับเอา ‘อมนุษย์’ สองตนเข้ามาบวชเป็นเพศบรรพชิต (ซึ่งก็ชัดเจนว่าคงต้องใจเวลาอีกนานกว่า ‘สงฆ์ประหลาด’ ทั้งสองจะสำรวมได้อย่างสงฆ์จริงๆ) หรืออีกในหลายๆ ประเด็นที่ไม่สามารถนำมากล่าวในที่นี้ได้หมด
อย่างไรก็ดี หลังการจัดแสดงผลงานดังกล่าวไม่นาน เครือข่ายชาวพุทธและพระสงฆ์จำนวนหนึ่งก็ได้ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงว่า ภาพภาพนี้ถือเป็นการหมิ่นแคลนศาสนา โดยที่ฝ่ายต่อต้านนั้นลืมไปว่า หากภาพดังกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันสงฆ์จริง หนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเสื่อมเสียในแวดวงพระนั้นก็น่าจะถูกประท้วงด้วย
ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันนี้การเห็นพระที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ใช้วัดเป็นสถานบันเทิง หรือสถานประกอบการธุรกิจอวิชชาพ่อมดหมอผี หรือแม้แต่เป็นโรงงานผลิตวัตถุบูชา เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ดังนั้นความรู้สึกของชาวพุทธที่จะขัดเคืองใจกับผลงานดังกล่าวจึงอาจไม่เข้มข้นเท่าบางกลุ่มองค์กร หรือโดยเฉพาะฝ่ายที่เสียประโยชน์จากการดิสเครดิต ‘ลัทธิบูชาวัตถุ/พระเครื่อง’
หากเรามองข้ามเรื่องยุ่งๆ ที่เกิดขึ้นกับผลงานชิ้นนี้ไป เราก็จะพบว่า แท้จริงแล้วทุกๆ สถาบันของสังคมต้องการการวิจารณ์และตรวจสอบด้วยกันแทบทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ตัวศิลปินเองจึงมีสิทธิตั้งคำถามและวิพากษ์สถานะของพระสงฆ์ โดยไม่จำเป็นต้องออกตัวว่า ผลงานชิ้นนี้มาจากความตั้งใจดีที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำของพุทธศาสนา แต่สิ่งที่ตัวศิลปินและแม้แต่กรมศิลปากรออกมาชี้แจง รังแต่จะยิ่งทำให้สถาบันศาสนาเป็นสิ่งที่แตะต้องหรือวิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ศิลปะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการสร้างสมดุล หรืออาจกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า ภิกษุสันดานกา เป็นเพียงงานหนึ่งในหลายๆ ชิ้น ที่ได้รับพลังจาก ‘จิตไร้สำนึกร่วม’ เพื่อทดแทน และส่งสัญญาณให้คนไทยหันกลับมามองด้านมืดในวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อเรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือเพื่อให้วัฒนธรรมพุทธสามารถพัฒนาขึ้นมามีชีวิตและมีความหมายต่อจิตสำนึกร่วมของชาติ ดังที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่หากเมื่อใดก็ตามที่คนในสังคมปฏิเสธที่จะรับฟังสัญญาณเตือนดังกล่าว เมื่อนั้นความมืดบอดอันเกิดจากความยึดมั่นอย่างสุดโต่งในจารีตประเพณีหรือวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์แต่เพียงอย่างเดียว ก็จะนำมาซึ่งความล่มสลายของทุกๆ สถาบันในสังคม และความโกลาหลในอีกหลายทศวรรษที่จะมาถึง
1 Sigmund Freud, Eine Kindheitserinnerung des Leonardo da Vinci,
2 Carl Jung, Psychology and literature, paragraph 134
3 Aniela Jaffe, Symbolism in Virtual Arts, Man and his symbol p. 311, 1964
4 archetype หรือ ‘ต้นแบบทางจิต้’ เป็นส่วนสำคัญของทฤษฏีจิตไร้สำนึกของคาร์ล ยุง กล่าวคือเป็นส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ (collective unconsciousness) คล้ายๆกับเป็นสัญชาตญาณทางจิต ซึ่งมีรูปแบบดั้งเดิมในหลายส่วน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางจิตของมนุษย์มาตลอด เช่น รูปแบบทางจิตเกี่ยวกับความรัก ความเกลียด หน้ากาก ปัญญา เวลา แม่อันยิ่งใหญ่ วงกลมอันสมบุรณ์ ปีศาจ ฯลฯ ซึ่งมักจะแสดงตนขึ้นในจิตสำนึกผ่านภาพต่างๆที่พบเห็นได้ในความฝัน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึก เช่นในภาพวาด ภาพเขียน เป็นต้น
(เคยตีพิมพ์ในวารสารหนังสือใต้ดิน #14)
3 thoughts on “ จิตไร้สำนึกอันสร้างสรรค์ และศิลปะสมัยใหม่ ”